นายมณเฑียร กุลธำรง รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ รักษาการผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.เตรียมว่าจ้างกลุ่มบริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อทบทวนศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียดโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ในวงเงิน 79.38 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างได้เร็ว ๆ นี้
การศึกษาที่ผ่านมาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอน N1 จากถนนงามวงศ์วานถึงแยกเกษตร ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร ตอน N2 จากแยกเกษตรซ้อนทับไปตามถนนเกษตร-นวมินทร์ จนถึงถนนนวมินทร์ ระยะทาง 9.2 กิโลเมตร และตอน N3 จากถนนนวมินทร์ ผ่านถนนเสรีไทย ถนนรามคำแหง และเบี่ยงแนวสายทางลงทิศใต้ ข้ามถนนกรุงเทพกรีฑา ก่อนบรรจบกับทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ระยะทาง 10.4 กม. โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2537 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติเห็นชอบให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการฯ และให้ดำเนินการก่อสร้างช่วงที่ก่อสร้างซ้อนทับกับแนวทางหลวงสายเกษตรศาสตร์-สุขาภิบาล 1 (เกษตร-นวมินทร์ ในปัจจุบัน) ของกรมทางหลวงไปพร้อม ๆ กัน เพื่อรองรับโครงการที่จะก่อสร้างต่อไปในอนาคต
กทพ. จึงได้ดำเนินการก่อสร้างฐานราก ตั้งแต่ พ.ศ.2539 หลังจากนั้นทางรัฐบาลได้มีการทบทวนการจัดอันดับความสำคัญของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ จึงได้ถูกพิจารณาให้ชะลอการดำเนินการไว้ก่อน ต่อมาโครงการระบบทางด่วนสายนี้ ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2552-2554 ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 และเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพการจราจรในปัจจุบัน กทพ. จึงได้จัดทำแผนทบทวนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามฐานรากและเสาตอม่อที่ก่อสร้างไว้ กทพ. ได้มีการบำรุงรักษาและตรวจสอบเป็นระยะ โดยได้ก่อสร้างคอนกรีตหุ้มเหล็กเสริมโครงสร้างเสาของทางด่วนเพื่อป้องกันการสึกกร่อน ซึ่งหากโครงการได้รับอนุมัติให้เดินหน้าต่อเมื่อไร กทพ.ก็จะสามารถก่อสร้างได้ทันที โดยใช้พื้นที่ผิวจราจรของถนนเกษตร-นวมินทร์น้อยที่สุดเพื่อลดผลกระทบการจราจรในระหว่างก่อสร้าง ซึ่ง กทพ. จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนว่าจ้างที่ปรึกษาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อเริ่มดำเนินโครงการฯ ต่อไป ขณะเดียวกันรายละเอียดของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือนั้น กทพ.ยังทำการศึกษาเพิ่มเติมในการเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกของกรมทางหลวง (East-West Corridor) อีกด้วย