สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ระบุว่า หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท จะส่งผลทั้งในแง่บวกและลบต่อภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน ในแง่บวก คือ จะช่วยดึงดูดแรงงานกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจรับสร้างบ้านมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าแรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มเดียวกับแรงงานภาคการเกษตร ที่ผ่านมาการจ้างงานในภาคเกษตรได้รับค่าจ้างสูงขึ้นมาก ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ละทิ้งงานก่อสร้าง และหันไปรับจ้างทำการเกษตรแทน เช่น รับจ้างกรีดยาง ทำสวนปาล์ม ทำนาและเกี่ยวข้าว ฯลฯ ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯพบว่าแรงงานภาคการก่อสร้างขาดแคลนอย่างหนัก
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังจะช่วยยกระดับค่าแรงฝีมือตามมา ซึ่งก็จะจูงใจช่างฝีมือที่หนีหายไปกลับเข้ามาทำงานในภาคก่อสร้างเช่นเดิม เพราะปัจจุบันค่าแรงช่างฝีมือก่อสร้างไม่ถือว่าราคาสูง เมื่อเปรียบเทียบกับ ช่างยนต์ ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างอิเล็คโทรนิค ฯลฯ เป็นต้น ในส่วนของด้านลบหรือปัญหาที่จะตามมานั้น แน่นอนว่าจะส่งผลให้ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุน ในระยะแรกๆ อาจส่งผลทางจิตวิทยาและทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลง และจะส่งผลให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น เมื่อเข้าสู่สถานการณ์กำลังซื้อชะลอตัวจากผลของการปรับเพิ่มราคาบ้านในตลาด
"ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านควรเร่งปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสอดคล้องกับต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ด้วยการนำเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้างที่ทันสมัยมาใช้ในงานก่อสร้าง หรือหันไปใช้เทคโนโลยีก่อสร้างมากขึ้น เพื่อช่วยในการผลิตหรือลดกระบวนก่อสร้างลง เช่น ระบบโครงสร้างคอนกรีตพรีแฟบ เครื่องฉาบปูน เครื่องพ่นสี ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อลดการใช้แรงงานหรือทำงานก่อสร้างให้เสร็จเร็ว มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ และสามารถรับงานก่อสร้างได้มากขึ้น มิใช่อาศัยหรือพึ่งพาแต่แรงงานฝีมือเป็นหลักเท่านั้น"
อย่างไรก็ดี สมาคมฯ เห็นว่าในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้านนั้น ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นปัญหาหลักไม่ใช่เฉพาะค่าแรงงานเท่านั้น หากแต่เป็นค่าขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบและค่าเดินทาง ซึ่งเป็นต้นทุนที่แฝงอยู่ประมาณ 20-30% ของต้นทุนก่อสร้างทั้งหมด ฉะนั้นทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนจึงควรหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อหาทางลดต้นทุนค่าขนส่งให้ต่ำลงมากที่สุด เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการภาคธุรกิจที่แท้จริง ตลอดจนจะส่งผลให้ต้นทุนและราคาบ้านต่ำลงอย่าแน่นอน
โดยเฉพาะต้นทุนวัสดุและค่าก่อสร้างบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัดไกลๆ จะสูงกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่มาก นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาและขยายรับสร้างบ้านออกไปทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดก็มีผลมาจากต้นทุนค่าขนส่งที่แฝงอยู่นั่นเอง ทำให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัดต้องจ่ายแพงกว่าคนเมืองหลวง ซึ่งดูจะเป็นความขัดแย้งกันเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ระหว่างคนต่างจังหวัดกับคนเมืองหลวง จึงอยากฝากเรื่องนี้เป็นการบ้านไปยังรัฐบาลใหม่ เพราะปัจจุบันต้นทุนค่าขนส่งของประเทศไทยยังจัดว่าสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว
"ผู้ประกอบการไม่ควรตื่นตระหนกเกินเหตุ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะมีระยะเวลาให้เตรียมความพร้อม โดยคาดการณ์ว่าเร็วที่สุดก็น่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณต้นปี 2555 ซึ่งผู้ประกอบการยังพอมีเวลาที่จะปรับตัวก่อนเริ่มปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตามต้นทุนค่าแรงที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น สุดท้ายผู้บริโภคจะเป็นผู้แบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นเอง หาใช่ผู้ประกอบการไม่"