Analysis: นักวิเคราะห์ไม่มั่นใจประชุมฉุกเฉินผู้นำยูโรโซนพฤหัสบดีนี้จะกู้วิกฤตหนี้ได้

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 19, 2011 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มผู้นำยูโรโซนจะจัดประชุมสุดยอดสมัยฉุกเฉินในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อหารือกันเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือครั้งที่ 2 สำหรับกรีซ แต่นักลงทุนในตลาดและนักวิเคราะห์ไม่มั่นใจว่า ที่ประชุมจะสามารถหามาตรการในการแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายเฮอร์แมน แวน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า เสถียรภาพทางการเงินของยูโรโซนและความช่วยเหลือกรีซในอนาคตนั้น จะเป็น 2 วาระหลักในการประชุมครั้งนี้

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า กรีซจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือครั้งใหม่ที่มีมูลค่าเท่ากับปีที่แล้วที่ระดับ 1.10 แสนล้านยูโร (1.54 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อจะช่วยให้กรีซรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ได้อย่างน้อยจนถึงปี 2555 และจะช่วยไม่ให้การผิดนัดชำระหนี้ลุกลามไปทั่วยุโรป

แต่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของอียูพยายามหาแนวทางที่นอกเหนือไปจากวิธีการดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในการให้ความช่วยเหลือกรีซครั้งใหม่ โดยเยอรมนี ผู้มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจยุโรปมากที่สุด ร่วมด้วยเนเธอร์แลนด์ และฟินแลนด์ ได้เรียกร้องให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหากรีซ แม้มีความเสี่ยงที่จะทำให้ภาคเอกชนเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้บางส่วนก็ตาม แต่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกรีซได้ออกมาคัดค้านเรื่องนี้อย่างรุนแรง

นอกจากนี้ แม้แต่เรื่องกำหนดวันประชุมก็ต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะได้ข้อสรุปเป็นวันพฤหัสบดีนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ เยอรมนีแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดประชุมดังกล่าว โดยเยอรมนีได้ปฏิเสธข้อเสนอของนายแวน รอมปุย ที่ให้มีการจัดการประชุมในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า การประชุมฉุกเฉินควรจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อ "มีสาระสำคัญ" และ "เป็นประโยชน์"

ซอล์ท ดาร์วาส นักวิจัยจากสถาบัน Bruguel ในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า เยอรมนีกำลังเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มสูงขึ้นจากภายในประเทศที่ไม่ต้องการให้เยอรมนีให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมกับกรีซ

"ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ชาวเยอรมนีไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม นอกจากนี้ พรรคการเมืองต่างๆและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ของเยอรมนียังได้คัดค้านเรื่องนี้ และทางรัฐบาลเองก็อาจจะต้องทำตามในสิ่งที่ประชาชนเห็นว่าสมควร" ดาร์วาสกล่าว

อย่างไรก็ดี เขากล่าวเสริมว่า "เยอรมนีมักจะคัดค้านมาตรการต่างๆก่อนที่จะเห็นชอบในนาทีสุดท้าย ซึ่งผมหวังว่าครั้งนี้ก็จะเป็นเหมือนเช่นเคยที่พวกเขาจะสามารถหาทางออกที่รวดเร็วได้ในนาทีสุดท้าย"

ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดและนักวิเคราะห์ยังคงวิพากษ์วิจารณ์ยูโรโซนที่ยังไม่สามารถดำเนินการและหาทางแก้ไขปัญหาหนี้ได้จนถึงขณะนี้ โดยดาเนียล กรอส ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานโยบายยุโรป (CEPS) ซึ่งสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงของยุโรประบุว่า การที่ยูโรโซนยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาอย่างชัดเจนนั้น เป็นเพราะทุกประเทศมองปัญหาจากมุมมองของตนเองเท่านั้น

อียู และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้อนุมัติการเบิกจ่ายเงินกู้งวดที่ 5 มูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ให้กับกรีซในเดือนนี้ จากเงินกู้ยอดรวมมูลค่า 1.10 แสนล้านยูโรที่ได้อนุมัติในปีที่แล้ว หลังจากรัฐสภากรีซมีมติผ่านมาตรการรัดเข็มขัดตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเจ้าหนี้ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจะช่วยให้กรีซรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ได้จนถึงเดือนก.ย.

ดาร์วาสกล่าวว่า การที่ยังไม่มีสัญญาณว่ากรีซจะผิดนัดชำระหนี้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของยูโรโซนยอมปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับกรีซ พร้อมกับผลักดันให้ประเทศที่ประสบปัญหาหนี้แบบเดียวกันนั้น ให้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

บทวิเคราะห์โดย ฉง ต้าไห่ จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ