นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่อยู่อาศัย ณ กลางปี 2554 มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังขายอยู่ในท้องตลาดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถึง 1,317 โครงการ ในจำนวนนี้มี 955 โครงการที่ยังมีหน่วยขายเหลืออยู่เกินกว่า 20 หน่วย แสดงให้เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีขนาดใหญ่มาก จำนวนโครงการที่ยังเหลืออยู่เกินกว่า 20 หน่วยนี้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 100 โครงการ แสดงให้เห็นถึงการเปิดตัวที่มีมากส่งผลให้อัตราการขายที่อาจชะลอตัวลงบ้าง
โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีโครงการเปิดใหม่ถึง 233 โครงการ เทียบกับปีที่แล้วที่มีเปิดใหม่ 448 โครงการแล้ว อาจอนุมานได้ว่า จำนวนโครงการในปี 2554 นี้อาจเปิดตัวมากกว่า แต่จำนวนหน่วยที่จะเปิดน้อยกว่า คือประมาณ 108,298 หน่วย จากที่เปิดตัวในปี 2553 จำนวน 116,791 หน่วย อย่างไรก็ตาม ขนาดโครงการในปี 2554 มีขนาดเล็กลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการดำเนินโครงการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดว่ามูลค่าโครงการที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดในตลอดปี 2554 มีสูงกว่าปี 2553 (319,343 ล้านบาท เทียบกับ 302,140 ล้านบาท) แสดงให้เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2554 ยังมีความร้องแรงอยู่มาก
แต่หากพิจารณาถึงยอดซื้อของโครงการที่อยู่อาศัยในครึ่งแรกของปี 2554 จะพบว่ามีจำนวน 48,825 หน่วย เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกปี 2553 และหากประมาณการทั้งปี 2554 จะมีจำนวน 97,650 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบยอดขายทั้งปี 2553 กรณีนี้แสดงถึงภาวะ ‘ซื้อง่าย-ขายคล่อง’ ของตลาดที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าวิตกก็คือ การซื้อขายในยุคหลัง ๆ เป็นการซื้อขายเก็งกำไรมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ยังเปิดขายอยู่ทั้งในช่วงเดือนธันวาคม 2553 กับเดือนมิถุนายน 2554 แต่พบว่า มีโครงการที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น 23% ส่วนอีก 9% ปรับราคาลดลง นอกนั้น 68% ยังคงราคาขายตามเดิม แสดงให้เห็นว่า ภาวะตลาดไม่ได้ตกต่ำลง ยังคงมีความคึกคักอยู่ เพียงแต่ความความคึกคักในช่วงนี้อาจเป็นผลจากการเก็งกำไร ซึ่งปรากฏว่าห้องชุดจำนวนมากมีการซื้อขายยกชั้น หรือซื้อครั้งละหลายหน่วย ผู้ขายถึงขนาดสอบถามผู้ซื้อว่าสนใจซื้อเพื่ออยู่อาศัยหรือการลงทุน แสดงถึงการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยที่มีเพิ่มขึ้นในระยะที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลวิจัยฯ คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2555 จะมีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ทั้งหมดประมาณ 100,000 หน่วยเช่นกัน ทำให้ในรอบ 3 ปีล่าสุด (2553-2555) จะมีหน่วยเปิดใหม่รวมกันถึง 330,000 หน่วย หรือประมาณ 7.2% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมด 4.56 ล้านหน่วย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ ปี 2555 เมื่อโครงการต่าง ๆ ทยอยแล้วเสร็จในเวลาต่อมา จึงคาดว่า ณ ปี 2556 ตลาดจะเกิดภาวะ ‘ฟองสบู่แตก’ เพราะการสะสมของอุปทานที่มากเกินพอดี เนื่องจากอุปทานเหลือขายทั้งหมดในตลาดมีอยู่ ณ กลางปี 2554 มีอยู่ทั้งหมด 135,598 หน่วยหรือประมาณ 3% ของหน่วยที่อยู่อาศัยทั้งหมด 4.45 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ ปี 2554 ซึ่งยังถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงปี 2540 ที่มีสัดส่วนสูงถึง 5%
"หากในปี 2556 เศรษฐกิจของประเทศเกิดชะลอตัวลงอย่างรุนแรงด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือการแข่งขันในระดับนานาชาติก็ตาม อาจส่งผลกระทบให้ความสามารถในการซื้อและการผ่อนของประชาชนลดลง ในขณะที่มีอุปทานเพิ่มขึ้นมหาศาลในฃ่วงปี 2553-2555 จนอาจเกิดหนี้เสียได้มากเพราะสถาบันการเงินในขณะนี้ก็แข่งขันกันอำนวยสินเชื่อสูงกว่าหรือเท่ากับราคาบ้านในปัจจุบันโดยขาดความเข้มงวด ในกรณีเช่นนี้วิกฤติอสังหาริมทรัพย์จึงอาจหลีกเลี่ยงได้ยากในปี 2556 ที่มีอุปทานล้นเกินอย่างชัดเจน"นายโสภณ กล่าว