ส.อ.ท.เรียกร้องให้ กฟน-กฟภ.ยกเลิก/เปลี่ยนหลักทรัพย์ค้ำประกันใช้ไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 20, 2011 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เรียกร้องให้การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ยกเลิกหรือลดเงินค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าของสมาชิกฯ พร้อมทั้งขอให้เปลี่ยนหลักทรัพย์ค้ำประกันการใช้ไฟฟ้ามาเป็นกรมธรรม์ประกันภัย โดยไม่ต้องนำหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกันที่ธนาคารเพื่อทำ Bank Guarantee เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการยังมีวงเงินสินเชื่อเหลือพอที่จะนำไปลงทุนหรือเพิ่มศักยภาพในด้านอื่นต่อไป

"สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพิจารณาเห็นว่าเป็นภาระต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง และอาจส่งผลทำให้โอกาสในการแข่งขันของประเทศลดลง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ กฟน.และ กฟภ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บเงินค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าจากผู้ประกอบการ โดยให้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า 5 ประเภท ได้แก่ เงินสด พันธบัตรรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ หนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศ หนังสือค้ำประกันของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหนังสือค้ำประกันของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภายในประเทศ และมีการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้ากรณีที่ผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า โดยกำหนดเป็นจำนวนเท่าของค่าไฟฟ้าต่อเดือน(1.25 เท่า, 1.5 เท่า หรือ 2 เท่าของวงเงินค้ำประกันเดิม) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก

"จำนวนเงินดังกล่าวถือว่าเป็นหลักประกันระยะยาวหรือสินเชื่อระยะยาวประเภทหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ คือ ได้รับวงเงินสินเชื่อลดลง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

หลังจาก ส.อ.ท.ได้ส่งแบบสอบถามข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและหลักทรัพย์ค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าให้สมาชิกฯ โดยตอบกลับจำนวน 747 แห่ง พบว่า มีหลักทรัพย์ที่วางกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเป็น Bank Guarantee สูงสุดประมาณ 76% และเป็นเงินสดประมาณ 18% ตามลำดับ และถ้าพิจารณาอัตราค่าประกันการใช้ไฟฟ้าคิดเป็น 1.36 เท่าของค่าใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นเงินกว่า 2,900 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ