นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร). นัดพิเศษเพื่อพิจารณาผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ของรัฐบาลชุดใหม่ว่า ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของแรงงาน โดยเฉพาะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้ผู้ประกอบการ แรงงาน และประชาชนอยู่รวมกันได้อย่างสมดุล
ดังนั้น กกร.จึงยืนยันข้อเสนอเดิม คือ ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ, การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามกลไกตลาด และเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง และหากรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน รัฐบาลก็ควรหาแนวทางจ่ายส่วนต่างของค่าจ้างดังกล่าว โดยระบุว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ กกร.ก็จะยื่นข้อเสนอนี้ทันที
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ในการสำรวจผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท/วันจากผู้ประกอบการในภาพรวม พบว่า ผู้ประกอบการ 60-70% จะมีผลกระทบปานกลางถึงกระทบมาก และยังพบว่าผู้ประกอบการ 85% ระบุว่า อาจจำเป็นต้องปลดคนงานออก 15% นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าแรงในระดับดังกล่าว จะกระทบต้นทุนจนผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าขึ้นอีก 10%
ด้านนายดุสิต นนทนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า มีความกังวลกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งแม้ภาคเอกชนจะเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่รัฐบาลควรจะดำเนินการในระดับที่เหมาะสม เพราะในระยะสั้นจะส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดกลางขนาดเล็ก หรือ SMEs ได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายนี้ อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่า 90% ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นได้
ส่วนผลกระทบระยะยาวจะทำให้ค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ จากปัจจุบันที่มีเงินลงทุนประมาณ 3-4 แสนล้านบาท เพราะหากปรับขึ้นค่าแรงในอัตราดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และทำให้เงินลงทุนของไทยหายไปถึง 25% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท/ปี นอกจากนี้ ยังทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นกระทบไปถึงราคาสินค้าที่จะปรับตัวสูงขึ้นตาม