In Focusจับตาประชุมฉุกเฉินยูโรโซนชี้ชะตากรีซ...จะรอดหรือจะร่วง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 20, 2011 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขณะที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวลกับวิกฤตหนี้สินยุโรปที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนานและยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด สำนักงานการธนาคารยุโรป (อีบีเอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารของสหภาพยุโรป ได้เปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของธนาคาร 90 แห่งในยุโรปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่ามีธนาคารเพียง 8 แห่งที่ไม่ผ่านการทดสอบ ได้แก่ ธนาคารของสเปน 5 แห่ง (Catalunya Caixa, Pastor, Unnim, Caja3 และ CAM) ออสเตรีย 1 แห่ง (Oestereichische Volksbank) และกรีซ 2 แห่ง (ATEbank และ EFG Eurobank)

เมื่อมองอย่างผิวเผินแล้ว ข้อมูลดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับยุโรป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้ยุโรปบรรเทาเบาบางลงเลย เนื่องจากแม้จะมีธนาคารเพียง 8 แห่งที่ไม่ผ่านการทดสอบ จากที่คาดการณ์ว่าจะไม่ผ่านการทดสอบถึง 15 แห่ง แต่ก็ยังมีธนาคารอีก 16 แห่งที่อยู่ในภาวะเสี่ยง นอกจากนั้นนายแอนเดรีย เอนเรีย ประธานอีบีเอ ยังยอมรับว่าการทดสอบภาวะวิกฤตอิงกับสถานะเงินทุนของธนาคารต่างๆ ณ สิ้นเดือนเมษายนเท่านั้น ทั้งที่วิกฤตหนี้สินยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหลังจากนั้นจนถึงบัดนี้ หมายความว่าการทดสอบครั้งนี้อาจจะไม่มีความแม่นยำพอ และอีกไม่นาน EBA อาจจะประกาศออกมาว่าผลการทดสอบดังกล่าวไม่สามารถใช้การได้ ดังนั้นหลายฝ่ายที่หวังว่าผลการทดสอบภาวะวิกฤตจะช่วยให้อะไรๆดีขึ้น จึงต้องฝันค้างไปตามๆกัน

เมื่อความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยุโรปไม่บรรเทาเบาบางลงตามที่หวัง นายเฮอร์มัน ฟาน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป (อียู) ก็ตัดสินใจประกาศว่า กลุ่มยูโรโซนซึ่งประกอบด้วย 17 ชาติที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน จะจัดการประชุมฉุกเฉินที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคมนี้ หลังจากที่ต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะกำหนดวันประชุมที่แน่นอนได้ พร้อมกันนั้นนายรอมปุยยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่วิกฤตหนี้จะลุกลามไปทั่วยูโรโซน จึงจำเป็นที่จะต้องประชุมหามาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดการลุกลาม

วาระการประชุมหลัก

ประเด็นหลักของการประชุมฉุกเฉินในครั้งนี้คือ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบสองกับกรีซ และความมั่นคงทางการเงินในเขตยูโรโซนทั้งหมด

เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้อนุมัติความช่วยเหลือทางการเงินให้กับกรีซในวงเงิน 1.1 แสนล้านยูโร (ราว 1.54 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีเงื่อนไขว่ากรีซต้องใช้นโยบายรัดเข็มขัดเพื่อทำให้สถานะทางการเงินมีความมั่นคงมากขึ้น รัฐบาลกรีซตัดสินใจทำตามเงื่อนไขและถูกแรงต้านอย่างหนักจากประชาชนที่ถูกตัดเงินเดือนและเงินบำนาญ จนเกิดการชุมนุมประท้วงและการจลาจลหลายครั้งในประเทศ แม้กรีซจะยอมทำทุกอย่างเพื่อรับเงินช่วยเหลือแต่สถานะทางการคลังก็ไม่ดีขึ้น จนสุดท้ายก็ต้องขอความช่วยเหลือรอบใหม่ในวงเงินเท่าๆกับครั้งแรก

แม้กรีซจะอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเล็กในยุโรป แต่ถ้ากรีซผิดนัดชำระหนี้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่วิกฤตหนี้สินจะลุกลามไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคโดยเฉพาะอิตาลีและสเปน ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่ในยุโรป ขณะนี้ทั้งอิตาลีและสเปนกำลังดิ้นรนอย่างเต็มที่เพื่อที่จะไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากอียูและไอเอ็มเอฟ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมารัฐสภาอิตาลีก็เพิ่งอนุมัติมาตรการรัดเข็มขัดในวงเงิน 4.8 หมื่นล้านยูโรเพื่อลดตัวเลขขาดดุลให้ได้ภายใน 3 ปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเร่งให้ความช่วยเหลือกรีซเพื่อไม่ให้วิกฤตลุกลามออกไป ถือเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินในเขตยูโรโซนทั้งหมดได้ อย่างที่นายอีแวนเจลอส เวนิเซลอส รัฐมนตรีคลังกรีซ กล่าวว่า การปกป้องกรีซถือเป็นการปกป้องยูโรโซนทั้งหมด เนื่องจากการแก้ปัญหากรีซจะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องแบบโดมิโนไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค

อุปสรรคและปัจจัยเสี่ยง

อุปสรรคสำคัญในการให้ความช่วยเหลือรอบสองกับกรีซ คือ การที่สมาชิกยูโรโซนบางประเทศนำโดยเยอรมนีผู้มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจยุโรปมากที่สุด ร่วมด้วยเนเธอร์แลนด์และฟินแลนด์ ต้องการดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนในการให้ความช่วยเหลือกรีซ แต่ถูกธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกรีซคัดค้านอย่างหนัก โดยอีซีบีเตือนว่าหากธนาคารต่างๆ ถูกบังคับให้ปล่อยกู้แก่กรีซ ตลาดอาจจะตีความหมายว่าเป็นการหยุดพักชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สินยิ่งลุกลามบานปลาย ในการประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซนเมื่อวันจันทร์ที่แล้วจึงยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวได้

ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะให้ธนาคารพาณิชย์และเอกชนรายอื่นๆ ต่ออายุหนี้กรีซด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรกรีซชุดใหม่เมื่อพันธบัตรเก่าครบกำหนดไถ่ถอน แต่นายอีฟส์ เมอร์ช ผู้กำหนดนโยบายของอีซีบี ออกมาประกาศจุดยืนว่า อีซีบีจะไม่ยอมรับพันธบัตรที่ผิดนัดชำระหนี้ในฐานะหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม และหากอีซีบีไม่ยอมรับพันธบัตรกรีซในฐานะหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม ธนาคารพาณิชย์ของกรีซก็กู้เงินจากอีซีบีไม่ได้ ซึ่งจะทำให้วิกฤตหนี้กรีซลุกลามไปสู่ประเทศอื่นต่อไป

นอกจากนั้นบรรดารัฐมนตรีจากกลุ่มยูโรโซนก็กำลังพิจารณามาตรการจัดเก็บภาษีธนาคารพาณิชย์ เพื่อระดมทุนนำไปช่วยเหลือกรีซ โดยนายฌอง ลีโอเน็ตติ รัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรปของฝรั่งเศส ระบุว่ามาตรการดังกล่าวมีข้อดีคือไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงธนาคารโดยตรง อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าผู้ทรงอิทธิพลในไอเอ็มเอฟ คัดค้านการเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกรีซ เนื่องจากไม่มั่นใจว่ากรีซจะสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพในระยะยาวได้

มุมมองเชิงบวก

แม้จะมีอุปสรรคหลายประการในการบรรลุข้อตกลงให้ความช่วยเหลือกรีซ แต่บรรดานักวิเคราะห์และนานาประเทศค่อนข้างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือมีความเชื่อว่าที่ประชุมฉุกเฉินของผู้นำยูโรโซนจะสนับสนุนแผนการให้ความช่วยเหลือกรีซรอบใหม่ โดย วัลเลอรี พีเครส โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส ออกมาแสดงความเห็นว่าน่าจะมีการบรรลุข้อตกลงการให้ความช่วยเหลือรอบสองกับกรีซได้ในวันพรุ่งนี้ พร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในการกู้วิกฤตหนี้สิน แต่ต้องทำโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของยูโรโซน

ขณะเดียวกันนายอีแวนเจลอส เวนิเซลอส รัฐมนตรีคลังกรีซ แสดงความเชื่อมั่นว่า การประชุมในวันพรุ่งนี้จะได้ข้อสรุปอย่างแน่นอน เนื่องจากทุกฝ่ายต่างต้องการแก้ไขปัญหากรีซ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหายูโรโซนไปด้วย ขณะที่รัฐบาลเยอรมนีคาดหวังว่า ผลการประชุมในวันพรุ่งนี้จะส่งสัญญาณให้ตลาดเงินในยุโรปได้มั่นใจว่า ยูโรโซนมีความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือรอบสองกับกรีซ

อย่างไรก็ดี นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวเตือนว่า วิกฤตหนี้ยูโรโซนที่ยืดเยื้อมานานจะไม่สิ้นสุดลงด้วยทางแก้ปัญหาเพียงหนทางเดียว นั่นหมายความว่าแม้จะมีการบรรลุข้อตกลงใดๆในการประชุมวันพรุ่งนี้ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันที แต่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการแก้ปัญหาเท่านั้น

หากผลการประชุมฉุกเฉินยูโรโซนในวันพรุ่งนี้ออกมาในทางบวกอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ วิกฤตหนี้ยูโรโซนก็มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายในระดับหนึ่ง แต่หากผลการประชุมยังไม่มีความคืบหน้าซึ่งเป็นที่น่าพอใจของตลาด ก็อาจทำให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤตหนี้ยุโรปยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งการประชุมในวันพรุ่งนี้จะออกหัวหรือก้อยนั้น ทั่วโลกต้องจับตาดูแบบไม่กระพริบตา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ