สศอ.หนุนลาวทำดัชนีเตือนภัยภาคอุตฯ หวังปูทางใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 21, 2011 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม และการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรม เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้ กับผู้แทนของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)

ทั้งนี้ มีการให้ความรู้เรื่องการจัดทำระบบเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม และการจัดทำดัชนีชี้วัดเพื่อการเตือนภัย ซึ่งเป็นลักษณะการให้ความรู้เพื่อปูทางให้ สปป.ลาว ได้มีระบบเตือนภัยภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพในอนาคต อีกทั้งแนะนำวิธีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สู่การกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป และการมีฐานข้อมูลที่เป็นระบบจะช่วยให้ชาติสมาชิกอาเซียนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

สปป.ลาว เป็นชาติแรกที่ สศอ.ได้สร้างเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภายใต้ AEC และจะขยายไปสู่ชาติสมาชิกอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

นางสุทธินีย์ กล่าวว่า AEC ที่จะมีผลในปี 58 เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการรวมตัวกันครั้งนี้จะทำให้มีขนาดและมูลค่าการตลาดที่สูงมาก ด้วยจำนวนประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน คิดเป็น 9% ของจำนวนประชากรโลก มีขนาด GDP คิดเป็น 2% ของ GDP ของโลก มูลค่าการค้า คิดเป็น 17% ของมูลค่าการค้าโลกโดย AEC มีมูลค่าการค้าประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าการค้าโลก 22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ถือเป็นโอกาสของการขยายตลาดให้กว้างใหญ่ขึ้น

ดังนั้น การสร้างฐานข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในชาติสมาชิกจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เนื่องจากโลกการค้าเศรษฐกิจยุคใหม่ใช้ฐานข้อมูลเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ผู้ที่มีฐานข้อมูลที่มากกว่าและการวิเคราะห์ที่เฉียบคม จะเป็นผู้มีชัยเหนือคู่แข่ง

"การสร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับ สปป.ลาวครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จในอีกก้าวหนึ่งของ สศอ.ซึ่งการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมและการเตือนภัยภาคเศรษฐกิจที่ สศอ.รายงานผลต่อสาธารณะให้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนต่างให้การยอมรับเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเครื่องมือในการประเมินสถาณการณ์ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสูง"นางสุทธินีย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ