โพลล์นักศศ.ห่วงนโยบายรบ.ใหม่ดันเงินเฟ้อพุ่ง แนะจัดลำดับความสำคัญโครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2011 09:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์เรื่อง "นโยบายที่หาเสียงไว้ของรัฐบาลชุดใหม่กับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เป็นห่วง" พบว่า จากนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ 26 นโยบาย มีถึง 14 นโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์รู้สึกเป็นห่วงและอยากให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคิดให้รอบคอบก่อนดำเนินการ ส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชนโดยตรง ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่นว่าเป็นนโยบายที่ดีและต้องการให้เดินหน้าอย่างเต็มที่

สำหรับนโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่รู้สึกเป็นห่วงและต้องการให้คิดให้รอบคอบก่อนดำเนินการมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ 1.นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ภายใน 90 วัน 2.นโยบายแจกเครดิตการ์ดให้เกษตรกร เพื่อใช้ซื้อปัจจัยการผลิต และ 3.นโยบายแจกแท็บเลตพีซีให้เด็กนักเรียน

ส่วนนโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่นว่าดีและต้องการให้เดินหน้าอย่างเต็มที่ 3 ลำดับแรก คือ 1.นโยบายจัดให้มีศูนย์ฝึกในอาชีวศึกษาทุกแห่ง 2.นโยบายขจัดยาเสพติดใน 12 เดือน และ 3.นโยบายจัดให้มีอินเทอร์เน็ตฟรีในที่สาธารณะ

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังมีข้อคิดเห็นในการดำเนินนโยบายทั้ง 26 นโยบายของพรรคเพื่อไทยใน 8 ข้อ คือ 1.เป็นห่วงว่าจะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย 2.เงินงบประมาณที่จะต้องใช้ในการดำเนินโครงการอยู่ในระดับสูง ขณะที่การดำเนินโครงการบางโครงการก็จะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลต้องประสบกับปัญหาทางการคลังจนอาจทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการต่างๆ ได้ทั้งหมดตามที่ได้หาเสียงไว้

3.การดำเนินโครงการบางโครงการอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันในสินค้าส่งออกลดลงอันเป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับธุรกิจ SMEs ที่อาจจะต้องปิดตัวลง เกิดการย้ายฐานการผลิต และอาจนำมาซึ่งการว่างงานที่เพิ่มขึ้นกับแรงงานไทย นอกจากนี้จะทำให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากอันจะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ตามมา

4.การดำเนินโครงการบางโครงการอาจสุ่มเสี่ยงหรือมีช่องทางให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงโครงการตั้งกองทุนร่วมทุนทุกจังหวัด และโครงการรับจำนำข้าว

5.การดำเนินโครงการบางโครงการไม่เพียงไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น โครงการแจกเครดิตการ์ดให้เกษตรกรเพื่อใช้ซื้อปัจจัยการผลิต โครงการคืนภาษีให้ผู้ซื้อรถคันแรก โครงการเครดิตการ์ดพลังงานเพื่อเติมน้ำมันหรือก๊าซ NGV สำหรับคนขับแท๊กซี่ สามล้อ รถตู้ และมอเตอร์ไซต์รับจ้าง และโครงการพักหนี้ครัวเรือนที่ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี เป็นต้น

6.โครงการใดที่เป็นของรัฐบาลชุดเก่าซึ่งเป็นนโยบายที่ดีอยู่แล้วก็ควรจะมีการสานต่อและพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้จริง เป็นต้น 7. โครงการบางโครงการที่หาเสียงไว้มีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก ดังนั้นควรพิจารณาให้รอบคอบเป็นพิเศษ เช่น การจัดชายแดนใต้ 3 จังหวัดเป็นเขตปกครองพิเศษ โครงการจัดตั้งกองทุนทรัพย์สินของชาติโดยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ

8.การดำเนินโครงการต่างๆ ควรอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าเพราะจะทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ มีการปรับตัว ไม่เกิดภาวะช็อค หรือในบางโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ก็ไม่ต้องเร่งดำเนินการจนขาดการศึกษาผลกระทบอย่างถี่ถ้วน ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องคำนึงถึง

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 26 แห่ง จำนวน 62 คน ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 15-21 ก.ค.54


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ