ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย(TMB) หรือTMB Analytics ประเมินนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท หากใช้จริงพร้อมกันทั่วประเทศจะส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มอีก 2.3% นำโดยเงินเฟ้อในหมวดอาหารที่จะเร่งตัวขึ้นเกือบเท่าตัว และอาจปรับตัวขึ้นไปถึงจุดอันตราย 5% ในช่วงปลายปีหน้า
จากการศึกษาของ TMB Analytics อยู่บนสมมุติฐานที่ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 300 บาทพร้อมกันทุกจังหวัดในไตรมาส 1/55 พบว่าจะส่งผลให้ต้นทุนค่าแรงของภาคเอกชนในภาพรวมเฉลี่ยปรับขึ้น 26% โดยจะเริ่มส่งผลกระทบในไตรมาสที่สอง และการส่งผ่านจากต้นทุนแรงงานสู่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะมาในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารจะเพิ่มขึ้นอีก 4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เพิ่มขึ้นอีก 2.3% จากกรณีฐาน
จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุดในเดือน มิ.ย.54 อยู่ที่ 2.6% และยังอยู่ในช่วงขาขึ้นสู่ระดับ 3% ในช่วงสิ้นปีนี้ หากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามสมมุติฐานข้างต้น มองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจทะยานขึ้นสู่ระดับ 5% ในช่วงปลายปีหน้า ถือเป็นความเสี่ยงระดับอันตรายต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากในรอบสิบปีที่ผ่านมาจุดสูงสุดของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงที่เศรษฐกิจโลกร้อนแรงและราคาน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ไม่เคยอยู่เหนือระดับ 4% ซึ่งทะลุขอบบนของกรอบนโยบายการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยวางไว้ ดังนั้นผลลัพธ์โดยตรงคือดอกเบี้ยนโยบายที่จะปรับขึ้นอีกในปีหน้าอย่างแน่นอน
ระดับราคาในกลุ่มอาหารมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของระดับราคาทั่วไปทั้งประเทศ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าอื่น โดยจะทำให้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารปรับเพิ่มอีก 4% โดยใน ณ เดือนมิ.ย.54 อยู่ที่ 8% หมายความว่าถ้ามีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะได้เห็นอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารวิ่งไปอยู่ที่ 12-15% ระดับเดียวกับช่วงเศรษฐกิจร้อนแรงในปี 51 ก่อนโลกเข้าสู่วิกฤต Subprime ย่อมส่งผลโดยตรงต่อค่าครองชีพของประชาชนและสวนทางกับทำให้ความตั้งใจแรกเริ่มของรัฐบาลชุดใหม่ในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนผ่านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ผลของระดับสินค้าที่เพิ่มขึ้นอาจดูไม่มากหากเปรียบเทียบกับค่าแรงที่ได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อมองให้รอบด้าน เราก็จะเห็นว่าไม่ใช่ว่าแรงงานทุกคนจะได้รับค่าแรงขึ้นเหมือนกันหมด เพราะยังมีแรงงานนอกระบบและแรงงานที่ไม่สามารถต่อรองค่าจ้างได้ แต่ต้องกลับรับภาระค่าครองชีพจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงยังไม่ใช่คำตอบเดียวของการแก้ปัญหาปากท้องและคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน แต่ยังมีแนวนโยบายอื่นที่ต้องทำควบคู่กันไป เพื่อการกระจายรายได้มีความเหลื่อมล้ำลดลง รักษาสมดุลย์ในตลาดแรงงานที่เป็นปัจจัยการผลิตหลักของภาคธุรกิจ และรักษาระดับราคาสินค้าโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งหมดนี้ถือเป็นโดยโจทย์ที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ต้องพจารณาอย่างรอบคอบ
"หากพิจารณาลึกลงไป ผลกระทบจากนโยบายต่อตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจนั้นเป็นวงกว้างและเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในเชิงนโยบาย เนื่องจากที่ผ่านมาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งมีการส่งผ่านไปสู่ค่าจ้างขั้นสูงขึ้นไปทั้งระบบ และมีผลต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน" TMB Analytics กล่าว