ธปท.มองความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงกว่าการเติบโตศก.จับตานโยบายรบ.ใหม่-ศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2011 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับดือน ก.ค.54 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)โดยคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปีนี้ไว้ที่ 4.1 ตามเดิม แต่ในแง่คงวามเสี่ยงและความไม่แน่นอนยังมีสูง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ ทั้งจากผลกระทบนโยบายรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่ชัดเจน รวมถึงเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปยังมีปัญหา ประกอบเศรษฐกิจเอเชียครึ่งปีหลังอาจจะอ่อนแรงลง

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า แม้ว่าความเสี่ยงในแง่สูงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมีมากกว่าทางด้านต่ำ แต่มองว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงกว่าความเสี่ยงด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากผลของมาตรการภายใต้นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเงินในระดับสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ ธปท.จับตาดูอยู่

ส่วนจีดีพีในปี 55 ยังคงประมาณการเดิมไว้ ภายใต้สมมติฐานนโยบายการคลังไม่เปลี่ยนแปลง คือเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท เพราะยังไม่สามารถประเมินการใช้จ่ายของรัฐบาลใหม่ใด้ ซึ่งหากนโยบายรัฐบาลใหม่ชัดเจนก็จะมีการประเมินภาพทั้งหมดใหม่อีกครั้ง

ในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ได้มีการปรับประมาณการจาก 2.3% เป็น 2.4% และปีหน้าจาก 2.1% เป็น 2.3% โดยมีความเสี่ยงคือต้นทนที่สูงขึ้นจากการส่งผ่านของราคาสินค้าและบริการไปยังผู้บริโภค ขณะที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคงระดับเดิม เพราะความเสี่ยงราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงทรงตัวในระดับสูง

"ความเสี่ยงที่สำคัญอีกด้านหนึ่งที่ ธปท.ต้องติดตามดูในระยะต่อไปคือ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก โดยครึ่งปีแรกเศรษฐกิจของประเทศหลัก ๆ ยังชะลอตัว แม้ว่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ส่วนภาวะในประเทศต้องจับตานโยบายด้านการคลัง การก่อหนี้ภาคครัวเรือน และอัตราเงินเฟ้อ"นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน เป็นเหตุผลสำคัญที่จะกระทบกับเงินเฟ้อ เพราะมีผลต่อต้นทนการผลิต หากค่าจ้างเพิ่มขึ้นพร้อมกับผลิตภาพของแรงงานก็จะไม่มีผลต่อเงินเฟ้อ แต่ถ้าค่าจ้างปรับขึ้นอย่างเดียวจะทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า

ขณะที่เงินบาทแข็งค่าในระยะนี้มีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อไปได้บ้าง เพราะนำเข้าน้ำมัน เครื่องจักร และสินค้าทุนถูกลง โดยการแข็งค่าของเงินบาทมาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่ตลาดมองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี แต่ค่าเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มผันผวนในระยะต่อไป

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 2/54 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาส 1/54 ที่ขยายตัว 3% เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นส่งผลกระทบมายังภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะยานยนต์ ทำให้ผลิตและส่งออกชะลอตัวลง แต่ก็กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว โดยการผลิตและการส่งออกในเดือน พ.ค.-ส.ค.กลับมาขยายตัวในระดับปกติ

ส่วนภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งจากไตรมาส 2/54 โดยเฉพาะจากการส่งออกน่าจะยังดีกว่าครึ่งปีแรก แม้ว่าเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปมีปัญหาการชะลอตัว แต่จากการสำรวจผู้ประกอบการพบว่าคำสั่งซื้อ 3 เดือนข้างหน้ายังสูงอยู่ และล่าสุดตัวเลขส่งออกจริงขยายตัวถึง 23% สูงกว่าคาดการณ์

ขณะที่การลงทุนและอุปโภคบริโภคในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ด้วยภาวะการเงินผ่อนปรน อัตราดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อภาคสถาบันการเงินขยายตัวได้ดี ล่าสุดเติบโตในระดับ 13.7% สูงขึ้นจากปลายปีก่อนที่อยู่ในระดับ 12.6% มองไปข้างหน้าจากกการสำรวจของภาคสถาบันการเงินเชื่อว่าแนวโน้มความต้องการสินเชื่อมีออยู่ต่อเนื่อง เพราะการบริโภคและลงทุนยังเติบโตและรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นเป็นแรงส่งต่อไป

"เศรษฐกิจยังขยายตัวพอไปได้ โดยแรงส่งมีพอสมควร แต่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีสูงจากอุปสงค์ในประเทศ บริโภคและลงทุน และส่งออกยังขยายตัวทั้งปีที่ 22% ก็จะชวยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ส่วนมาตรการของรัฐบาลใหม่คาดว่าจะกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์อยู่ในระดับสูง และหากส่งผ่านต้นทุนสินค้าและบริการไปยังผู้บริโภค รวมทั้งการปรับคค่าจ้างแรงงานให้เร่งตัวขึ้นก็จะนำไปสู่เงินเฟ้อในระดับสูง"ยาบไพบูลย์ กล่าว

อนึ่ง ขณะนี้คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะ 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 3.7% แต่เป็นการสำรวจก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้น เชื่อว่าตัวเลขต่าง ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้ภายหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ