นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ด้านชลประทาน การเกษตร ลอจิสติกส์ การศึกษา เพื่อผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ
พร้อมทั้งกระตุ้นภาคเอกชนให้เร่งการลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถการแข่งขันและการผลิต ลดการพึ่งการส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจหากเศรษฐกิจโลกผันผวน ซึ่งขณะนี้ไทยมีการปรับเปลี่ยนตลาดส่งออกจากเดิมที่เน้นตลาดส่งออกในสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น ลดมาครึ่งหนึ่ง และหันมาเน้นในตลาดอาเซียนและจีน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วิกฤติปี 40-53 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 2.9%ต่อปี เนื่องมาจากมีการลงทุนต่ำ
พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 การปรับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำยังน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ และน้อยกว่ารายได้ประชาชาติโดยเฉลี่ย แสดงให้เห็นว่าแรงงานยังมีความเสียเปรียบ ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มความต้องการในประเทศ(Domestic demand)และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าแรงงานจะทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงแรกหากมีการปรับขึ้นค่าแรงตามนโยบายรัฐบาล คงมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการในช่วงแรก ดังนั้นภาครัฐจะต้องเข้ามาบรรเทาผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงการอำนวยสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ควรปรับปรุงระบบภาษีเพื่อแข่งขันกับภูมิภาคได้ดีขึ้น ได้แก่ การปรับลดภาษีนิติบุคคล ปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปรับลดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เน้นเฉพาะอุตสาหกรรมที่จำเป็นระยะยาว สนับสนุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ รองรับการลงทุนจากต่างประเทศโดยใช้ไทยเป็นสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค
"ภาครัฐต้องทำอะไรหลายๆอย่าง ทั้งค่าแรง รายได้ ภาษีนิติบุคคล การใช้จ่ายภาครัฐ ถ้าเลือกทำบางอย่างจะเสียของ จะสู้ประชาคมในอาเซียนไม่ได้ ถ้าสู้ต้องสู้ให้เต็มตัว และวันนี้เราจะไม่สู้ไม่ได้แล้ว แต่หาทางบรรเทาผลกระทบ อย่าหาทางไม่ทำ"นายศุภรัตน์ กล่าว
ขณะเดียวกันเสนอภาครัฐควรบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถืออยู่ให้เกิดประสิทธิภาพดีขึ้น โดยนำรูปแบบโฮลดิ้งคอมปานีมาใช้บริหารจัดการการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจต่างไ เพื่อความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการลงทุน
นายศุภรัตน์ ยังเสนอให้โอนเงินสำรองระหว่างประเทศบางส่วนมาจัดตั้ง Soveregin Wealth Fund เพื่อแก้ปัญหาผลตอบแทนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) บริหารต่ำเกินไป และมีต้นทุนการบริหารจัดการสูง รวมถึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ฉะนั้น ควรมองว่าเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นสมบัติของประเทศ ควรนำมาหาผลตอบแทนที่ดี เช่นเดียวกับกองทุเทมาเซคของรัฐบาลสิงคโปร์ นอกจากนี้ดูแลให้กองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีการลงทุนที่มีประสิทธิภาพด้วย
นายศุภรัตน์ กล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่เข้ามาโครงการลทุนต่างๆ จะทำให้ภาครัฐต้องขาดดุลและกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น โดยเสนอว่าในช่วง 2 ปีแรกทำงบประมาณขาดดุลปีละประมาณ 4-4.5% (รวมงบประมาณกับรัฐวิสาหกิจ) และในช่วง 2 ปีถัดมาลดลงงบขาดดุลเหลือ 3-3.5% จะมีวงเงินลงทุนเพียงพอประมาณ 2 ล้านล้านบาท โดยหนี้สาธารณะอยู่สูงสุดประมาณ 55%ของ GDP เป็นระดับที่น่าจะรับได้ จากที่เคยมีระดับสูงสุดที่ 58% ของ GDP หลังจากนั้นเตรียมแผนดึงงบกลับมาสมดุลและบริหารหนี้สาธารณะให้ลดลง
"สิ่งที่ห่วงคือเรื่องคอรัปชั่น ที่ผ่านมาการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐเกิดน้อยมาก แต่งบจะโตในงบประมาณประจำ การขาดดุลแบบนี้ถ้าเป็นการขาดดุลเพื่อลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ค้มค่า"นายศุภรัตน์ กล่าว