นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง คาดว่า ปีงบประมาณ 55 ภาครัฐน่าจะจัดเก็บรายได้เกินเป้าราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาลชุดใหม่มีเงินใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็หวังว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทยจะรักษาวินัยการเงินการคลัง และคงการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 3.5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ารัฐบาลใหม่มีสิทธิที่จะทบทวนกรอบงบประมาณประจำปี 55 จากเดิมที่วางงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 2.25 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้ที่ 1.9 ล้านล้านบาท และขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท แต่ยังมีตัวแปรในการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.54 และนโยบายการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ตามนโยบายรัฐบาลใหม่คาดว่าจะเข้ามาดำเนินการ ซึ่งจะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้
นายกรณ์ กล่าวระหว่างการจัดงานอำลาตำแหน่ง โดยขอให้ข้าราชการกระทรวงร่วมผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป ทั้งการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ การปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งหวังว่ารัฐบาลใหม่จะยังเดินหน้านโยบายสำคัญต่อไป พร้อมเชื่อว่าข้าราชการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ แม้จะมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง แต่การบริหารภายในก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผู้บริหารสถาบันการเงินของรัฐ ดังนั้น คงไม่มีเรื่องที่น่ากังวล
สำหรับ รมว.คลังคนใหม่ นายกรณ์ มองว่า ต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านการเงินการคลัง ทั้งเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค เป็นผู้ที่ประชาชนให้ความมั่นใจว่าพึ่งพาได้ มีความสุจริตในการทำงาน มีวินัย มีความพร้อมที่จะพูดความจริงในทุกเรื่อง พร้อมปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ มีบทบาทความรับผิดชอบต่อการช่วยเหลือประชาชน และต้องมีบารมีเพียงพอ
นายกรณ์ ฝากถึงรัฐบาลใหม่ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปจะต้องมีการทำงานให้สอดคล้องและใกล้ชิดกับกับหน่วยปฎิบัติ รวมถึงนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งขณะนี้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแผนการจัดงบประมาณเข้าสู่สมดุลภายในปี 58 หวังว่ารัฐบาลใหม่จะยึดกรอบดังกล่าวไว้ต่อไป เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ไม่ให้การขาดดุลงบประมาณมีผลต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ
"แบงก์ชาติมองว่าปีงบประมาณ 55 ไม่ควรขาดุลเกิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อไม่ให้มีผลต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อเพราะจะเป็นปัญหามาก จึงอยากฝากรัฐบาลใหม่พิจารณาในประเด็นนี้เป็นสำคัญว่าจะใช้งบประมาณเท่าไร และมีการขาดดุลเท่าไร" นายกรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่เร่งเดินหน้านโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ทั้งนโยบายพักชำระหนี้ นโยบายการรับจำนำข้าว การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ เพราะหลายโครงการหากมีความล่าช้าแล้วจะมีผลกระทบตามมา เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่ขณะนี้ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า และหามาตรการอุดช่องโหว่จากนโยบายดังกล่าว เพราะต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณสูงถึง 4 แสนล้านบาท ดังนั้น การดำเนินการจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เม็ดเงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง
"ทุกนโยบายที่พูดไว้หากประชาชนได้ประโยชน์ก็ขอให้ทำโดยเร็ว ส่วนผลข้างเคียงมีแน่นอน ก็เหมือนกินยา ดังนั้น ต้องบริหารปริมาณยาให้เหมาะสม มีการบริหารผลข้างเคียง ทั้งนโยบายพักหนี้ ค่าแรงขั้นต่ำ ทำแล้วก็ต้องมีนโยบายช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้วย" นายกรณ์ กล่าว