นายยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวในงานเสวนาระดมความคิดเห็นเรื่อง “รายงานเศรษฐกิจไทยครึ่งปี 2554 และทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง..มุมมองภาคเอกชน” จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า แนวโน้มการลงทุนของไทยในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยบวกที่เอื้ออยู่หลายประการ คือ 1. ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อาหาร, ยานยนต์, ฮาร์ดดิสไดรฟ์ และปิโตรเคมี เป็นต้น ซึ่งทำให้มีความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้จากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง 2. เงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นได้ทำให้มีโอกาสขยายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นมายังไทยเพิ่มขึ้น 3. การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ เนื่องจากการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ, เพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรี และราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง 4. ความั่นใจของนักธุรกิจและผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง 5.ภาษีเงินได้นิติบุคคลมีแนวโน้มลดลง
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง และมีแนวโน้มอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิม 2. แม้ปัญหาความไม่สงบในประเทศจะลดลง แต่ยังไม่ถือว่าอยู่ในภาวะที่มั่นคงนัก 3. เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และจีน 4. อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ 5. ความไม่แน่นอนของทิศทางการให้สิทธิประโยชน์ของไทยในอนาคต 6. ปัญหาด้านภาษีอากรกับหน่วยงานรัฐ กระทบต่อบรรยากาศการลงทุน และ 7.ปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งมีฝีมือและไร้ฝีมือ และการเพิ่มอัตราค่าจ้าง
นายยุทธศักดิ์ มองว่า แนวโน้มการลงทุนในปี 54 จะดีขึ้นกว่าปี 53 เล็กน้อย ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ายอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไว้ที่ 4 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดตัวเลข 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.54) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 247,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดีนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก แต่เชื่อว่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเพื่อการจำหน่ายในประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ นาวารัตน์ ผุ้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะยังคงเป็นขาขึ้น ส่วนสิ้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไปอยู่ระดับเท่าใดนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) แต่ทั้งนี้สัญญาณที่พอจะส่งออกไปได้คืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต้องไม่ควรติดลบ เพราะเศรษฐกิจของไทยถือว่าฟื้นตัวสู่ระดับปกติแล้ว
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินทุนจะไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งสถานการณ์นี้จะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ แต่ก็เป็นไปตามสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ทั้งนี้ ธปท.จะดูแลสถานการณ์ไม่ให้เงินบาทมีความผันผวน แข็งค่าหรืออ่อนค่าอย่างรวดเร็วนัก เพื่อให้นักธุรกิจสามารถปรับตัวได้ แต่ยืนยันว่าต้องม่ใช่การฝืนกระแส
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์พบว่า ต่างมีความมั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลมากขึ้น เนื่องจากจำนวนเสียงของรัฐบาลอยู่ในระดับที่มีความมั่นคงสูง และเชื่อว่ากลุ่มต่อต้านรัฐบาลคงจะยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันในช่วงนี้ แต่คงรอดูสถานการณ์และการทำงานของรัฐบาลใหม่ไประยะหนึ่งก่อน
ทั้งนี้มองว่า ณ สิ้นปีดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 1,197 จุด และต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 995 ปี โดยระหว่างช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสขึ้นไปถึงระดับ 1,221 จุดได้ โดยหุ้นเด่นที่นักวิเคราะห์แนะนำส่วนใหญ่เป็นหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เนื่องจากมองเห็นแนวโน้มที่ดีจากการเติบโตของสินเชื่อ และรายได้จากค่าธรรมเนียม