ยูเอ็นเผยยอด FDI ในฮ่องกงแซงหน้าประเทศชั้นนำในยุโรปเป็นครั้งแรกในปี 2553

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 27, 2011 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานประจำปีของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (UNCTAD) เผยฮ่องกงรั้งอันดับ 3 ของโลกเมื่อปีที่แล้ว ในแง่ของปริมาณเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 6.89 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 31.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552

ไซมอน แกลพิน ผู้อำนวยการของอินเวสท์ ฮ่องกง ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐบาลฮ่องกงได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับรายงานของอังค์ถัดว่า นับเป็นครั้งแรกที่ฮ่องกงมีกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาสูงกว่ายอดของประเทศชั้นนำของยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้แม้ว่า รายงานจะไม่ได้อธิบายถึงสาเหตุของการขยายตัวของสถิติของฮ่องกง แต่แกลพินเชื่อว่า ภาวะซบเซาของตลาดในประเทศในแถบตะวันตกทำให้เอเชียตะวันออกมีความน่าสนใจ และฮ่องกงก็ได้รับอานิสงส์จากข้อได้เปรียบของตนเองและความใกล้ชิดกับตลาดจีน

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า แกลพินกล่าวต่อไปว่า ฮ่องกงจำเป็นต้องระมัดระวัง เนื่องจากกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนั้นสามารถผันผวนได้อย่างรวดเร็ว และปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคหลายปัจจัยก็มีส่งผลต่อกระแสดังกล่าว ซึ่งปลายทางยังมีปัจจัยที่บดบังอยู่มาก ทั้งวิกฤตหนี้ในสหรัฐและความกังวลในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจฮ่องกงได้

ทั้งนี้ ข้อได้เปรียบของฮ่องกง เช่น การใช้กฎหมาย ระบบภาษีที่ต่ำและไม่ซับซ้อน คุณภาพของแรงงาน และทำเลที่ตั้งนั้น ช่วยดึงดูดบริษัทต่างๆที่ต้องการเข้ามาตั้งศูนย์กลางในระดับภูมิภาคให้เข้ามาที่ฮ่องกง

แกลพินกล่าวว่า จำนวนผู้ที่เดินทางมายังฮ่องกงมีมากขึ้น ประกอบการที่ฮ่องกงมีสถานเป็นฐานะศูนย์กลางเงินหยวนนอกประเทศจีน จึงทำให้ฮ่องกงเป็นที่ๆสามารถใช้สกุลเงินหยวนได้ค่อนข้างจะมีเสรีภาพมากกว่าเดิม และยังเป็นจุดเชื่อมระหว่างบริษัทของจีนกับตลาดโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้เม็ดเงิน FDI ไหลเข้ามาอย่างแข็งแกร่ง

รายงานของอังค์ถัดระบุว่า สหรัฐรั้งอันดับ 1 ในฐานะประเทศที่มีเม็ดเงิน FDI มากที่สุดถึง 2.28 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 49% จากระดับปี 2552 รองลงมาคือ จีนที่มี FDI เพิ่มขึ้น 12% แตะ 1.06 แสนล้านดอลลาร์ เบลเยียมรั้งอันดับ 4 จากเดิมที่อยู่อันดับ 17 และบราซิลที่รั้งอันดับ 5 จากเดิมที่อันดับ 15

นายหวาง ตัค จุย คณบดีคณะบัญชีของไชนีส ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง ซึ่งช่วยวิเคราะห์รายงานฉบับนี้ กล่าวว่า แนวโน้มของ FDI ทั่วโลกยังไม่มีความชัดเจน การฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐ ตลอดจนเงินเฟ้อในจีนจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของ FDI แต่ฮ่องกงเองจะยังคงได้อานิสงส์จากอัตราอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของจีนในอนาคตอันใกล้ ตราบเท่าที่ฮ่องกงสามารถรักษาความได้เปรียบของตนเองในเรื่องโครงสร้างทางกฎหมาย ตลอดจนกระแสการหมุนเวียนของข้อมูลและแรงงานที่มีคุณภาพไว้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ