ธปท.จับตานโยบายการคลังรัฐบาลใหม่ ห่วงเป็นจุดเสี่ยงต่อระบบการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 27, 2011 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “มองเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง"ว่า ธปท. เห็นว่าภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยผ่านกลไกของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ถือเป็นจุดเสี่ยงต่อระบบการเงินในระยะต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“ไม่ว่าจะเป็นโครงการบัตรสินเชื่อเครดิตการ์ดสำหรับเกษตรกร วงเงิน 1.74 แสนล้านบาท รีไฟแนนซ์หนี้ส่วนบุคคล วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท พักหนี้เกษตรกร วงเงิน 2.1 แสนล้านบาท และโครงการบ้านหลังแรก ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้น 4.42 แสนล้านบาท คิดเป็น 20% ของงบประมาณภาครัฐ เป็นมาตรการที่เป็นภาระผูกพันโดยมีนัยสำคัญต่องบประมาณ แต่ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากรัฐสภา ถือเป็นภาระหนี้ซ่อนเร้น เป็นหนี้ที่มองไม่เห็น เพราะไม่ได้อยู่ในสัดส่วนหนี้สาธารณะ 42% แต่จะเป็นภาระภาษีประชาชนระยะข้างหน้า"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ความจำเป็นใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อยลง เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง หากรัฐบาลชุดใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจร้อนแรงเกินกว่าพื้นฐานที่เติบโตใกล้เต็มศักยภาพ 4.5-5%

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินยังคงใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นต่อไปเหมือนที่ผ่านมาที่ปรับขึ้นครั้งละ 0.25% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากสถานการณ์ในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีการกู้เงินก็ควรนำมาใช้ในโครงการลงทุน ไม่ควรนำมาใช้เพื่อการบริโภค และควรระมัดระวังผลกระทบในทางลบของมาตรการต่าง ๆ โดยรัฐควรจัดลำดับความสำคัญและเน้นรายจ่ายที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ทยอยใช้มาตรการต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเงินเฟ้อ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีเวลาปรับตัว รวมถึงต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด พร้อมกับหามาตรการลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ เช่น ปรับโครงสร้างและขยายฐานภาษี ภายใต้การยึดกรอบวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ