ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วงหลัง S&P ลดอันดับความน่าเชื่อถือกรีซ

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 28, 2011 07:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ก.ค.) หลังจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซ โดยระบุว่ากรีซอาจจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้บางส่วนแม้ได้รับความช่วยเหลือรอบสองจากสหภายุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ตาม

ค่าเงินยูโรร่วงลง 1.01% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.4366 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันอังคารที่ 1.4512 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลง 0.51% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.6329 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6413 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 78.010 เยน จากระดับ 77.900 เยน และขยับชึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8018 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8011 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.63% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1016 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0947 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนตัวลง 0.09% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8692 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8700 ดอลลาร์สหรัฐ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สกุลเงินยูโรร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเอสแอนด์พีประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลง 1 ขั้นสู่ระดับ CC จากระดับ CCC โดยระบุว่า กรีซอาจจะ "ผิดนัดชำระหนี้บางส่วน (selective default)" แม้ว่ากรีซได้รับความช่วยเหลือรอบที่สองจากอียูและไอเอ็มเอฟก็ตาม

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นไม่นานหลังจากมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือกรีซลง 3 ขั้น สู่ระดับ Ca จาก Caa1 พร้อมระบุว่ากรีซยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในการชำระหนี้ระยะสั้นที่รุนแรง และก่อนหน้านี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ เตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลของกรีซลงสู่ระดับ "ผิดนัดชำระหนี้" ซึ่งเป็นผลมาจากแผนการใหม่ของยูโรโซนที่ดึงธนาคารพาณิชย์และภาคเอกชนเข้ามาร่วมแบกรับภาระในการกู้วิกฤติหนี้กรีซ

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียยังคงแข็งค่าขึ้หลังจากสำนักงานสถิติออสเตรเลียเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อรายปีขยายตัวสู่ระดับ 3.6% ในปีงบประมาณซึ่งสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เทียบกับระดับ 3.3% ในช่วงไตรมาสซึ่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการขยายตัวเร็วสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551

นักลงทุนจับตาดูความเคลื่อนไหวในการเจรจาเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ โดยมีรายงานว่านายจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้นำแผนงบประมาณกลับมาทบทวนใหม่ หลังจากสำนักงานงบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐ (CBO) เตือนว่า แผนงบประมาณที่วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรครีพับลิกันพยายามผลักดันอยู่นั้น จะไม่สามารถลดยอดขาดดุลงบประมาณได้มากเท่ากับที่ประมาณการไว้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้การลงมติแผนงบประมาณต้องเลื่อนออกไปอีก

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า จีดีพีไตรมาส 2 จะขยายตัวเพียง 1.8% ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 1.9% และเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดในรอบหลายปี เนื่องจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ