นายกสมาคมยางพารา คาดแนวโน้มการส่งออกยางในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเติบโตดีต่อเนื่องถึงปีหน้า โดยจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงต้นครึ่งปีหลังจากช่วงครึ่งแรกโตแผ่วเพราะผลกระทบเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ คาดทั้งปีไทยน่าจะส่งออกยางพาราได้ไม่ต่ำกว่า 2.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4-5% จากปี 53 คิดเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 50%
ทั้งนี้ ครึ่งแรกปี 54 ไทยส่งออกยางไปแล้วประมาณ 1.2-1.4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 7-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
"ครึ่งปีแรก ในแง่ของปริมาณส่งออกยางโตน้อยไปหน่อย เพราะญี่ปุ่นเจอแผ่นดินไหวและสึนามิทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เกิดช็อคไป แต่ตอนนี้เริ่มฟื้นตัวแล้ว คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องถึงปีหน้าแนวโน้มส่งออกยางยังดีอยู่"นายหลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยฮั้วยางพารา และ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
สำหรับการส่งออกยางในปี 55 ในด้านปริมาณน่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากยังมีความต้องการจากทั่วโลก หลังอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะเติบโตราวๆ 10% จากปีนี้ โดยต้องรอดูปัจจัยภาวะเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐฯ หากปัญหายังมีอยู่หรือลุกลามมากขึ้นกว่าเดิมอาจจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ตอนนี้ยังพอรับได้ เพราะเพิ่งจะแข็งค่าเพียงเล็กน้อย และเชื่อว่าทางการก็คงพยายามดูแลอยู่
ทั้งนี้ คาดการณ์ราคา FOB ยางแผ่นรมควันชั้น 3(RSS3)เฉลี่ยปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 150 บาท/กก.ยางแผ่นดิบเฉลี่ยทั้งปีราว 140 บาท/กก.ปีหน้าก็น่าจะใกล้เคียงปีนี้ แต่ราคาคงไม่สูงไปมากเพราะผู้ใช้รับไม่ไหว แต่ราคาคงไม่ลงมาก ยกเว้นจะมีปัจจัยกดดันแรงๆ เช่น หากปัญหาเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐลุกลามรุนแรง ส่งผลกระทบมาถึงจีนและญี่ปุ่น
*หนุนรัฐปรับขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป หวั่นเกิดการย้ายฐาน
นายหลักชัย กล่าวถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการปรับขึ้นค่าแรง แต่หากปรับขึ้นรวดเดียวคงส่งผลกระทบแน่นอน เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุน ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่คงไม่มีผลกระทบมาก แต่ผู้ประกอบการ SMEs คงลำบาก เพราะปรับตัวไม่ทัน จึงควรจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป
ประเทศไทยมีผู้ผลิตยางประมาณ 300 ราย อยู่ในสมาคมยางพาราไทยประมาณ 47-48 ราย ที่เหลืออีก 200 กว่ารายที่อยู่นอกสมาคมเป็น SMEs ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคงจะได้รับผลกระทบแน่
"เข้าใจว่าเป็นโยบายที่หาเสียงเอาไว้ แต่ก็ต้องดูรอบข้าง และต้องไม่ทำให้เกิดการ Panic และย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นๆหมด ในเวลาเดียวกันภาครัฐต้องพัฒนาเรื่องประสิทธิภาพการทำงานควบคู่ไปกับการปรับค่าแรง จะได้เดินคู่กันไปได้ ทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้...ถ้าจะปรับต้องมีทางออกให้รายเล็กด้วย จะได้ไม่ต้องล้มหายตายจากกันไป"นายหลักชัย กล่าว