(เพิ่มเติม) สศค.คาดครึ่งปีหลังศก.โตถึง 5% หนุนขึ้นค่าแรง 300 บ.กระทบเงินเฟ้อไม่มาก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 28, 2011 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ประเมินว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2/54 ขยายตัวในอัตรา 3-3.6% สูงกว่าไตรมาส 1/54 ที่ขยายตัว 3% ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในอัตรา 5% โดยมีแรงขับเคลื่อนทั้งจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี การบริโภค และการลงทุน โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทำให้ทั้งปียังคงเป้าหมายเศรษฐกิจเติบโตที่ 4-5%

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก จากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ และปัญหาหนี้สินยุโรป ที่หากทั้งสองประเทศสามารถแก้ปัญหาได้เร็ว จะยิ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย แต่หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ คงต้องมีการทบทวนสถานการณ์กันอีก

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/54 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศและจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากได้รับแรงส่งจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน และญี่ปุ่น ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดของการผลิตรถยนต์ แต่จะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี

"มองว่าเศรษฐกิจตอนนี้ยังไม่ over heat เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ระดับต่ำกว่า 60% ซึ่งยังขยายกำลังการผลิตได้อีกมาก ยกเว้นบางอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิคส์ นอกจากนี้ภาคแรงงานยังมีปัญหาขาดแคลน และมีการหมุนเวียนตามฤดูกาลของแรงงานภาคเกษตร และอุตสาหกรรม"นายนริศ กล่าว

นายนริศ ยังกล่าวอีกว่า จากการศึกษาของสศค.ต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยประเมินแรงงานในเขต กทม. หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจาก 215 บาท จะเป็นการปรับขึ้น 40% มีแรงงานไทยที่เข้าข่ายจำนวน 5.4 ล้านคน คิดเป็น 8.5% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งหากมีการปรับขึ้น First Round Effect จะทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 2%

สศค.มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคงไม่ได้มีผลกระทบต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อมากนัก รวมถึงไม่กระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากเชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาชดเชยด้วยการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 30% เหลือ 23% เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และยังมีมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น สินเชื่อเสริมสภาพคล่องของสถาบันการเงินรัฐ และในระยะยาวการที่ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้นจะทำให้เกิดการผลิตสินค้ามากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ความสามารถการแข่งขันด้านราคาของภาคเอกชนไทย จากการแข็งค่าของเงินบาทยังมีความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในเดือน ก.ค.เงินบาทแข็งค่าประมาณ 3.2% แต่ตั้งแต่ต้นปี 54 ถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าเพียง 1.4% ขณะที่เกาหลีใต้ เงินวอนแข็งค่า 6.4% ดอลลาร์สิงคโปร์ แข็งค่า 6.2% ริงกิตของมาเลเซียแข็งค่า 3.4% ดังนั้นสะท้อนความสามารถการแข่งขันของไทยยังดีอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ