นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียชี้เงินดอลลาร์สหรัฐจะหมดสง่าราศีในฐานะสกุลเงินสำคัญไปในทันที หากสหรัฐต้องผิดนัดชำระหนี้
เมเดน ซับเนวิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ CARE ให้สัมภาษณ์ หลิว หยาหนาน จากสำนักข่าวซินหัวว่า เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไร้เสถียรภาพอยู่ในขณะนี้ การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐถือเป็นเรื่องที่อันตรายเกินไป
ซับเนวิส กล่าวว่า ยุโรปเองก็เจ็บปวดกับวิกฤตหนี้อยู่แล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นก็ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤตนิวเคลียร์ ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียนั้น ก็ต้องรับมือกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
"ปัจจุบัน วิกฤตหนี้สหรัฐถือเป็นเรื่องที่ยิ่งว่าการเมืองและอาจจะลากยาวไปจนถึงวันที่ 2 ส.ค. มีความเป็นไปได้เพียง 10% ที่สหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐสามารถผลักดันสภาคองเกรสได้ด้วยการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
บางฝ่ายมองว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา อาจจะบีบสภาคองเกรสและกู้เงินต่อไปได้ด้วยการอ้างถึงรัฐธรรมนูญข้อ 14 ที่ระบุถึงความสมเหตุสมผลในเรื่องที่จะมาตั้งคำถามกันเกี่ยวกับหนี้ของรัฐบาล หากสภาคองเกรสไม่สามารถปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ทันเวลา และรัฐบาลหมิ่นเหม่ที่จะผิดนัดชำระหนี้
แต่ทีมงานของโอบามากล่าวก่อนหน้านี้แล้วว่า โอบามาไม่ต้องการที่จะเดินหน้าเรื่องนี้เพียงลำพัง เพราะการเคลื่อนไหวที่ขาดเอกภาพของทำเนียบขาวจะทำให้พรรครีพับลิกันไม่พอใจอย่างแน่นนอน อีกทั้งยังจะเป็นการบ่อนทำลายบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ
สำหรับผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้นั้น นายซับเนวิสคาดว่ามีปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการเงิน ขณะเดียวกันคาดว่าปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบจะหดตัวลง อัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้นและดอลลาร์สหรัฐก็จะอ่อนค่าลงด้วย นอกจากนี้ คาดว่าเงินทุนจะไหลเข้าสู่สหรัฐน้อยลง แต่นักลงทุนจะหันไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่เพื่อทำกำไรในระยะสั้น
นายซับเนวิส กล่าวต่อไปว่า อินเดียซึ่งเป็นผู้ถือพันธบัตรรายย่อยของสหรัฐนั้น ก็อาจจะได้รับอานิสงส์จากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าสู่อินเดียมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนตลาดอินเดียให้ขยายตัวขึ้นด้วย นอกจากนี้ ซับเนวิสกล่าวว่า สาเหตุที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตหนี้สหรัฐนั้นก็คือ สหรัฐไม่สามารถลดการใช้จ่ายลง หรือขึ้นภาษีเพื่อลดยอดขาดดุลลงได้
"สหรัฐจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาเรื่องงบประมาณ การลดค่าใช้จ่าย และขึ้นภาษี การที่สหรัฐควบคุมยอดขาดดุลและระดับหนี้สินนั้นถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม คงไม่มีประเทศใดที่จะละเลยวินัยการคลังไปได้ เช่นเดียวกัน คงจะไม่มีประเทศใดใช้เงินทุ่มเพื่อแก้ปัญหาโดยตลอด" นายซับเนวิสกล่าว