ธปท.เผยอัตราการใช้กำลังผลิต Q2/54 ที่ 58.9%, มิ.ย.กระเตื้อง 63.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 29, 2011 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.54 และไตรมาส 2/54 ว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตไตรมาส 2/54 ลดลงมาอยู่ที่ 58.9% จากไตรมาส 1/54 อยู่ที่ 62.6%

ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมิ.ย.54 อยู่ที่ระดับ 63.3% เนื่องจากภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาขยายตัว 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อนหลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 4 เดือน โดยการผลิตปรับตัวดีขึ้นในหลายหมวดอุตสาหกรรม ที่สำคัญได้แก่ การผลิตในหมวดยานยนต์ปรับดีขึ้นหลังจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายลงเป็นลำดับตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.54 การผลิตในหมวด Hard Disk Drive ขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 หลังจากระดับสินค้าคงคลังลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การผลิตในหมวดอื่นๆ ยังคงขยายตัวตามการขยายตัวของอุปสงค์จากทั้งในและต่างประเทศ ยกเว้นการผลิตในหมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ยังคงหดตัวจากสถานการณ์ราคาฝ้ายที่ยังผันผวนส่งผลให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ 8.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตข้าวที่ลดลงจากการรณรงค์ให้เกษตรกรงดทำนาปรังรอบ 2 ตั้งแต่ต้นปี และผลผลิตยางพาราที่ลดลงเนื่องจากกรีดยางได้น้อยจากฝนที่ตกต่อเนื่องในภาคใต้

ด้านราคาสินค้าเกษตร แม้จะทรงตัวในระดับสูงแต่การขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากปริมาณสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมทั้งยางพาราที่ปัญหาอุปทานตึงตัวในตลาดโลกเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวชะลอลงจากช่วงก่อนหน้ามาอยู่ที่ 3.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน

อุปสงค์ในประเทศขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัว 3.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวในเกือบทุกองค์ประกอบ ที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และปริมาณการใช้เชื้อเพลิง รวมทั้งปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ปรับดีขึ้นหลังจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ได้คลี่คลายลง

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการบริโภคยังคงเป็นการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัว 7.4% จากระยะเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่ชะลอลงหลังจากเร่งนำเข้าไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างขยายตัวตามพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่เพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนเพื่อที่อยู่อาศัยและการพาณิชยกรรม

ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนที่สำคัญได้แก่ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อยู่สูงกว่าระดับ 50 และสินเชื่อภาคธุรกิจที่เร่งขึ้นมาก สำหรับภาครัฐยังคงใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายได้นำส่งสูงกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บได้สูงกว่าที่คาดไว้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 178.7 พันล้านบาท การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ