นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจโลกหากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้และถูกหั่นเครดิต

ข่าวต่างประเทศ Friday July 29, 2011 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในขณะที่สหรัฐกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะไม่สามารถปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ทันในวันที่ 2 ส.ค. หลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐประกาศเลื่อนการลงมติร่างกฎหมายการเพิ่มเพดานหนี้ในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาประเทศไทยนั้น นักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจทั่วโลก หากสหรัฐถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ทั้ง 3 แห่งของสหรัฐ ซึ่งได้แก่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี), ฟิทช์ เรทติ้งส์ และมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ต่างก็ออกมาเตือนว่า ทางสถาบันอาจจะลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลกลางสหรัฐ หากสภาผู้แทนราษฎรไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 2 ส.ค. ขณะที่ผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า จะมีสถาบันจัดอับดับความน่าเชื่อถืออย่างน้อย 1 แห่งที่จะตัดสินใจลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ

แต่ไม่ว่าการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม นักเศรษศาสตร์บางคนมองว่า การที่ผู้เชี่ยวชาญและนักการเมืองหลายคนแสดงความกังวลราวกับว่าจะถึงวันโลกาวินาศนั้น ถือเป็นการแสดงความกังวลที่มากจนเกินไป เมื่อพิจารณาจากชื่อเสียงของตลาดสหรัฐ

ฟรานซิสโก ทอร์ราลบา นักเศรษศาสตร์จากมอร์นิงสตาร์ อินเวสต์เมนท์ เมเนจเมนท์กล่าวว่า ในเบื้องต้นนั้น การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอาจจะทำให้เกิดความตื่นตระหนก โดยคาดว่านักลงทุนบางกลุ่มอาจจะแห่เทขายพันธบัตรที่ถือครองอยู่ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น

ทอร์ราลบากล่าวว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสุดในโลก และยังไม่มีสินทรัพย์ประเภทใดจะเข้ามาแทนที่ได้เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงด้านสินเชื่อและความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และนักลงทุนยังคงต้องการถือครองพันธบัตรสหรัฐจนถึงขณะนี้ นอกจากนี้ ตลาดพันธบัตรก็ได้ซึมซับกระแสคาดเรื่องการปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐไปแล้วก่อนหน้านี้

"แม้แนวโน้มด้านการคลังของสหรัฐไม่แข็งแกร่งเหมือนเมื่อก่อน แต่พันธบัตรสหรัฐก็ยังเป็นแหล่งการลงทุนที่คุ้มค่า ดังนั้นผมจึงไม่คิดว่าจะมีผลกระทบมากนัก" เขากล่าว

แบร์รี บอสเวิร์ธ นักเศรษฐศาสตร์จาก Brookings Institution กล่าวว่า การลดอันดับความน่าเชื่อถือจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเล็กน้อย และจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวลงปานกลาง อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า เอสแอนด์พี ซึ่งเตือนว่าอาจจะลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐนั้น ขาดความน่าเชื่อถือ

"เอสแอนด์พีค่อนข้างจะมั่นใจว่าจะลดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่ผมไม่คิดว่าสถาบันรายอื่นๆจะดำเนินการตาม นอกเสียจากว่าสหรัฐจะระงับการจ่ายหนี้" บอสเวิร์ธกล่าว

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ได้แสดงมุมมองที่เป็นลบต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐและทั่วโลก หากสหรัฐถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

เบอร์นาร์ด บาวโมห์ล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก ดิ เอคโคโนมิก กรุ๊ป กล่าวว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงสู่ระดับต่ำกว่า AAA จะสร้างความระส่ำระสายไปทั่วโลก และอาจจะทำให้ประเทศต่างและสถาบันหลักๆของโลก เทขายหลักทรัพย์ของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐสูงขึ้นด้วย

บาวโมห์ลกล่าวว่า หากสหรัฐถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐเองเท่านั้น แต่ยังทำให้ความต้องการสินค้าของสหรัฐในประเทศจีนและประเทศอื่นๆในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ทรุดฮวบลงหรืออย่างน้อยก็ชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้ระบบการค้าโลกได้รับความเสียหายมากขึ้น สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ