เลือกตั้ง'54:นิด้าโพลล์เผยปชช.หนุนนโยบายบัตรเครดิตเกษตรกรแต่ให้รัดกุม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 29, 2011 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้รายงานสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "บัตรเครดิตเกษตรกร" จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศจำนวน 1,291 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ มีความคลาดเคลื่อนมาตรฐานไม่เกินร้อยละ 3.73 พบว่า ประชาชน 64.91% เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เนื่องจากจะทำให้เกษตรกรมีสภาพคล่อง สร้างผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น, เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น, เกษตรกรจะได้หลุดพ้นจากความยากจน และ อื่นๆ เช่น ง่าย สะดวก ไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบ, ไม่ต้องพกเงินสดเยอะ

ส่วนที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวน 28.27% เพราะเกรงว่าเกษตรกรจะเป็นหนี้มากขึ้น, สถาบันการเงินมีหนี้สูญ/หนี้ที่ไม่ก่อประโยชน์มากขึ้น, มีนิสัยการใช้จ่ายที่ไม่ถูกต้อง,เกษตรกรตกเป็นทาสพ่อค้า นายทุน, ร้านค้าการเกษตรบางแห่งยังไม่พร้อมและอื่นๆ มีกองทุน หรือแหล่งเงินกู้อื่นๆ ให้อยู่แล้ว, จำกัดเฉพาะร้านค้าที่เข้าร่วม

ผลสำรวจยังบอกอีกว่า ประชาชนกังวลว่านโยบายนี้ ผู้ผลิต/พ่อค้า/นักธุรกิจ/นายทุน รวมทั้งรัฐบาลอาจจะได้รับประโยชน์มากกว่าเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม ประชาชน 44.00% เสนอแนะให้เดินหน้าทำนโยบายนี้ต่อ แต่ต้องทบทวน แก้ไขบางประเด็น หรือสร้างมาตรการให้รัดกุม ลดการเป็นหนี้ของเกษตรกร, 25.79% เห็นควรเดินหน้าต่อเพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจโดยตรง ขณะที่ 16.03% เห็นควรยกเลิกโครงการ เพราะเกษตรกรมีสถาบันการเงินให้สินเชื่ออยู่แล้ว, 1.63% เห็นว่าควรสำรวจความเห็นประชาชนก่อน, ให้ความรู้ความเข้าใจกับเกษตร, มีโครงการนำร่องก่อน

ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการสำนักวิจัย และอาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวยังเป็นเพียงนโยบายที่พรรคการเมืองได้นำเสนอไว้ในช่วงหาเสียง รายละเอียดจึงยังไม่ชัดเจนมากนัก คาดว่าจะชัดเจนขึ้นเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล และมอบหมายผู้รับผิดชอบแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อมองนโยบาย "บัตรเครดิตเกษตรกร" ตามคำนิยามของบัตรเครดิต โดยทั่วไปคือ “บัตรเงินกู้" ซึ่งแสดงสถานะว่าผู้ถือบัตรมีเครดิตสามารถกู้เงินจากผู้ออกบัตรมาใช้ก่อนแล้วค่อยชำระทีหลัง โดยภาระการกู้ยืมจะเท่ากับราคาค่าสินค้า/บริการที่ชำระผ่านบัตรเครดิตนั้น และจะมีการกำหนดวงเงินสูงสุดที่ผู้ถือบัตรสามารถกู้ยืมผ่านบัตรเครดิตนั้นเอาไว้ด้วย

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยมีจำนวนบัตรเครดิตที่ออกโดยสถาบันการเงินและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสัดส่วนเท่าๆ กัน รวมจำนวนกว่า 14 ล้านใบ มียอดหนี้ที่เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.43% ของยอดหนี้คงค้างทั้งหมด ซึ่งส่วนมากของผู้ถือบัตรจะมีลักษณะเป็นกลุ่มบุคคลที่รายได้สม่ำเสมอ ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และมักจะเป็นผู้อยู่ในสังคมเมืองเป็นหลัก การนำเสนอบัตรเครดิตสำหรับกลุ่มเกษตรกรซึ่งทั้งหมดจะเป็นสังคมชนบท และเข้าใจว่าเงื่อนไขการออกบัตรจะไม่เหมือนบัตรเครดิตทั่วไป จึงเป็นเรื่องใหม่ ที่มีประเด็นที่สามารถพิจารณาในเชิงข้อดีและข้อเสีย ดังนี้

ข้อดีของนโยบายนี้มีความชัดเจนว่า เป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร เพื่อใช้ประกอบกิจการทางการเกษตร และเพิ่มความคล่องตัวให้แก่เกษตรกรในการเข้าถึงวัตถุดิบในการผลิต ในลักษณะได้วัตถุดิบมาใช้ก่อน แล้วค่อยชำระทีหลัง

สำหรับข้อเสียคงจะเกี่ยวเนื่องกับการกำหนดเงื่อนไขและการบริหารจัดการของโครงการของนโยบายเป็นหลัก เพราะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงื่อนไขในการจัดทำนโยบายที่หลายประเด็นจะทำให้การบริหารนโยบายนี้มีความเสี่ยงจนเกิดเป็นความเสียหายได้ ประการแรก คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับอนุมัติบัตรเครดิต จะกำหนดอย่างไร เนื่องจากรายได้เกษตรกรค่อนข้างมีความผันผวน และมีความเสี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น ภัยพิบัติต่าง ๆ ราคาพืชผล ฯลฯ ประการที่สอง เงื่อนไขในการกำหนดวงเงินกู้ จะกำหนดอย่างไร

ประการที่สาม ความร่วมมือของร้านค้าที่จะยอมรับการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิตเกษตรกร ประการถัดมาการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของบริหารบัตรเครดิตเกษตรกรจะใช้ร่วมกับบัตรเครดิตที่มีอยู่ได้หรือไม่ เช่น เครื่องรูดบัตร ระบบการจ่ายเงินคืนให้แก่ร้านค้าร่วมรายการ ฯลฯ ประการสุดท้าย ความรู้ ความเข้าใจ ในการใช้บัตรเครดิตของเกษตรกร เนื่องจากเป็นของใหม่ และไม่ใช่วัฒนธรรมที่คุ้นเคยอย่างที่เป็นอยู่ ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอาจมีลักษณะผิดวัตถุประสงค์ได้ หรือไม่เข้าใจถึงภาระหนี้ของตนเองได้

"เท่าที่มองข้อดีข้อเสีย ยังเห็นว่าโครงการนี้ทำได้ยาก และจะมีปัญหาในการบริหารจัดการมาก ถ้าจะดำเนินการ ธกส. คงต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพราะมีลูกค้าเกษตรกรเป็นฐานเดิม การดูแลลูกค้าเกษตรกรในลักษณะนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ธกส. อาจแบกรับความเสี่ยงไม่ไหว ซึ่งรัฐบาลคงต้องชดเชยอยู่มาก ดังนั้น หากจะดำเนินการต้องทำอย่างระมัดระวัง มีการศึกษาข้อมูลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างรอบคอบ โครงการมีข้อดี แต่ต้องคิดให้รอบคอบในการวางแนวทางและวิธีการในการบริหารโครงการ ไม่อยากให้เร่งทำในทันที ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดมากๆ ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบทางการคลังจากการชดเชยของรัฐได้"

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใหม่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ควรมีการกำหนดขอบเขตเพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน อาจเริ่มจากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีข้อมูลในเรื่องราคาผลผลิต ราคาวัตถุดิบ และข้อมูลผลผลิต ค่อนข้างชัดเจน เช่น ข้าว ยางพารา ฯลฯ เพื่อให้โครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการขยายผลโครงการในระยะต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ