ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดGDP H2/54 โต 4.0-5.6% เร่งตัวจากการใช้จ่ายในประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2011 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 54 จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 4.0-5.6% ถือเป็นระดับที่สูงกว่ากรอบการขยายตัว 3.2-3.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 54 โดยจะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 54 ขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.5-4.5%

ทั้งนี้หากแรงเสียดทานทางการเมืองลดระดับลง หลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศและสามารถผลักดันบางมาตรการ เช่น นโยบายการปรับเพิ่มรายได้ผ่านการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี และโครงการจำนำข้าว(ตลอดจนมาตรการตรึงราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันดีเซลและก๊าซ NGV ที่ใกล้ครบกำหนดสิ้นสุดระยะของมาตรการ) ได้ทันภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ก็อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และช่วยกระตุ้นให้การบริโภคของภาคเอกชนสามารถขยายตัวในกรอบที่สูงขึ้นกว่า 4% ในช่วงครึ่งหลังของปี 54 ซึ่งเป็นภาพด้านบวกที่ดีกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีที่การบริโภคอาจขยายตัวได้ราว 3%

นอกจากนี้ การเร่งฟื้นกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยจากภาวะที่หยุดชะงักไปในช่วงไตรมาส 2/54 อาจะจะช่วยหักล้างผลกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อภาคการส่งออกของไทยไปได้บ้างบางส่วน

"ภาพด้านบวกทั้งหมด เมื่อรวมกับปัจจัยฐานการคำนวณเปรียบเทียบที่มีระดับต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 53 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ประมาณ 4.0-5.6% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนควรติดตามในช่วงครึ่งหลังของปี 54 ได้แก่ สถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคของโลก(ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านการคลัง และภูมิภาคเอเชียที่ต้องคงขั้วนโยบายการเงินเป็นเชิงคุมเข้มเพื่อสกัดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก) ตลอดจนรายละเอียดที่ชัดเจนของมาตรการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปภายใต้นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2/54 นี้ คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.5-3.9% ซึ่งแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในหลายภาคส่วนจะเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่กดดันมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ทั้งจากการพุ่งสูงขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิต ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่การฟื้นกำลังการผลิตจากฝั่งญี่ปุ่นในระดับที่เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้และเม็ดเงินสะพัดในช่วงก่อนการเลือกตั้ง น่าจะช่วยทำให้ระดับการชะลอตัวที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2/54 ของไทยอยู่ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ