ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การที่อินเดียอนุมัติส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ(Non Basmati Rice) ปริมาณ 1.8 ล้านตัน หลังจากหยุดมาตั้งแต่ปี 2552 โดยส่งออก 3 ช่องทาง คือ เอกชนเป็นผู้ส่งออก 1 ล้านตัน รัฐบาลจำหน่ายให้บังคลาเทศ 3 แสนตัน และจำหน่ายผ่านระบบรัฐบาลต่อรัฐบาลอีก 5 แสนตัน โดยกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำของข้าวขาวตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาข้าวนึ่ง 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันนั้น เป็นการเพิ่มปัจจัยท้าทายการส่งออกข้าวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554
เนื่องจากราคาส่งออกต่ำกว่าไทยค่อนข้างมาก กล่าวคือ เมื่อเทียบกับราคาส่งออกข้าวขาว 100 ชั้น 2 ของไทย(ราคา ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2554) ที่อยู่ในระดับ 563 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันแล้ว ราคาต่ำกว่าถึง 163 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ส่วนราคาต่ำกว่าข้าวนึ่งของไทยถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวมีแนวโน้มหันไปซื้อข้าวจากอินเดีย ทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง
โดยในส่วนของข้าวขาว เดิมผู้ส่งออกข้าวของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนามในการส่งออกข้าวขาว รวมทั้งการเปลี่ยนนโยบายแทรกแซงตลาดข้าวเป็นมาตรการรับจำนำข้าวที่คาดหมายว่าจะประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2554 โดยคาดกันว่าจะตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าไว้ที่ระดับ 15,000 บาท/ตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิไว้ที่ระดับ 20,000 บาท/ตัน ส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2554 ผลที่ตามมาคือ ผู้ส่งออกข้าวของไทยไม่กล้ารับคำสั่งซื้อข้าว เนื่องจากเกรงว่าจะหาซื้อข้าวไม่ได้และเกรงว่าจะประสบปัญหาขาดทุน ส่วนประเทศผู้นำเข้าหันไปสั่งซื้อข้าวจากเวียดนาม ทำให้การส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังปี 2554 มีแนวโน้มชะลอตัว กล่าวคือ ในช่วงครึ่งแรกปี 2554 ไทยส่งออกข้าวเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านตัน/เดือน แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มว่าการส่งออกข้าวจะลดลงเหลือเพียง 5-6 แสนตัน/เดือนเท่านั้น สำหรับในส่วนของตลาดข้าวนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากการส่งออกของอินเดียจะเป็นการเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดกับไทยโดยตรง
เดิมนั้นวงการค้าข้าวคาดหมายไว้ตั้งแต่ต้นปี 2554 ว่าในปี 2554 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวนึ่งได้ถึง 4 ล้านตัน มูลค่า 62,000 ล้านบาท ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 33.3 และร้อยละ 37.7 ซึ่งจะเป็นการส่งออกที่มากเป็นประวัติการณ์ และเป็นปัจจัยสำคัญของการผลักดันการส่งออกข้าวในปี 2554 รวมทั้งการส่งออกข้าวนึ่งเพิ่งจะฟื้นตัวจากการที่มูลค่าส่งออกหดตัวต่อเนื่องในปี 2552-2553 ดังนั้น การที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวนึ่งอาจจะส่งผลให้การส่งออกข้าวนึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ของไทยชะลอลง
ซึ่งการชะลอลงของการส่งออกข้าวนึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวค่อนข้างมาก เนื่องจากข้าวนึ่งพึ่งพาตลาดส่งออกทั้งหมด และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความผันผวนของราคาข้าวเปลือกเจ้าในประเทศ เนื่องจากโรงสีที่ผลิตข้าวนึ่งมีแนวโน้มชะลอการรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตข้าวนึ่ง รวมทั้งยังอาจจะส่งผลให้ราคาข้าวนึ่งหน้าโรงสี และราคาส่งออกข้าวนึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 มีความผันผวนมากขึ้น หลังจากที่ผู้ประกอบธุรกิจข้าวนึ่งต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาข้าวนึ่งมากขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
เนื่องจากในปัจจุบันข้าวนึ่งมีสัดส่วนสำคัญในการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทยโดยมีสัดส่วนร้อยละ 29.0 ของมูลค่าการส่งออกข้าวของไทย และข้าวนึ่งทั้งหมดที่ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น เนื่องจากคนไทยไม่รับประทานข้าวนึ่ง อันเป็นผลจากความไม่คุ้นเคยกับกลิ่นของข้าว รวมทั้งไทยเป็นประเทศที่ผลิตข้าวนึ่งมากที่สุดในโลก ในขณะที่อินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดข้าวนึ่งไม่ได้ส่งออกข้าวนึ่งในช่วงปี 2552-2553 ทำให้ไทยครอบครองตลาดข้าวนึ่งเพียงประเทศเดียว
อย่างไรก็ตาม ความเป็นเจ้าตลาดข้าวนึ่งของไทยเริ่มถูกท้าทายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 ที่อุรุกวัยและบราซิลสามารถผลิตข้าวได้มากเป็นประวัติการณ์ และหันมาส่งออกข้าวนึ่งประมาณ 1 ล้านตัน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนึ่งของไทยชะลอลงบ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากปริมาณการส่งออกไม่มากนัก แต่การส่งออกข้าวนึ่งของอินเดียจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนึ่งของไทย เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าไทยค่อนข้างมาก
สำหรับตลาดข้าวนึ่งที่สำคัญคือ ประเทศในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และบังคลาเทศ ซึ่งการกลับเข้ามาส่งออกข้าวนึ่งของอินเดียในครั้งนี้ ตลาดส่งออกข้าวนึ่งของไทยที่จะได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ ตลาดบังคลาเทศ ซึ่งอินเดียมีความได้เปรียบทั้งในเรื่องของราคา และระยะทางการขนส่ง ส่วนตลาดในแอฟริกา และตะวันออกกลาง ผู้ส่งออกข้าวนึ่งของไทยอาจจะถูกแย่งตลาดไปเพียงบางส่วนเท่านั้น
ประเด็นที่จะต้องติดตาม คือ ในปี 2554/55 ถ้าสภาพอากาศปกติ อินเดียไม่ประสบกับสภาพลมมรสุมที่รุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าว คาดการณ์ว่าอินเดียอาจจะกลับมาส่งออกข้าวขาวได้เพิ่มขึ้น นอกจากอินเดียแล้ว ประเทศที่ต้องจับตามองด้วยคือ เวียดนาม ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งจากปัจจุบันอยู่ในระดับ 1.0 แสนตัน คาดการณ์ว่าในปี 2555 เวียดนามสามารถจะส่งออกข้าวนึ่งได้มากถึง 2.0-2.5 แสนตัน