นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือนก.ค.54 อยู่ที่ 112.74 เพิ่มขึ้น 4.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.54 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ค.54) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.64%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือนก.ค.54 อยู่ที่ 106.35 เพิ่มขึ้น 2.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.54 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.01%
สำหรับเหตุที่ CPI ในเดือน ก.ค.สูงขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.54 มีสาเหตุมาจากดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.42% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย.54 โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้การยกเลิกมาตรการลดค่าครองชีพบางส่วน เช่น ค่าไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟต่อหน่วยเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้มิเตอร์ขนาดใหญ่กว่า 5 แอมป์
ส่วน CPI ในเดือนก.ค.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว เพิ่มขึ้น 4.08% เป็นเพราะการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและครื่องดื่ม 7.17% โดยเฉพาะข้าว, เนื้อสัตว์, ไข่, นม และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 2.21% จากการสูงขึ้นของค่าพาหนะ, การขนส่ง, การสื่อสาร และหมวดเคหะสถาน เป็นต้น
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อช่วงไตรมาส 3/54 ว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.6% ขณะที่เงินเฟ้อไตรมาส 4/54 จะลดลงตามวัฏจักรสินค้าเกษตร โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีนี้จะยังอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้คือ 3.2-3.7%
"ตอนนี้เงินเฟ้อทั้งปีคาดว่าไม่เกิน 3.7% แต่ยังกังวลเรื่องของราคาน้ำมันที่ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทมองว่าไม่น่าจะกระทบทันที เพราะต้องมีขั้นตอน ผ่านหลายคณะกรรมการ ส่วนการที่เงินไหลเข้ามานั้น ไม่กังวลว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงเพราะเป็นการลวงทุนในตราสารหนี้...อย่าตื่นตระหนักกับการที่ค่าแรงจะขึ้นเป็น 300 และราคาสินค้าจะขึ้น เพราะจะทำให้ซื้อสินค้ามากักตุนอาจทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นได้" นายยรรยง กล่าว