กสิกรฯ คาดเงินเฟ้อครึ่งปีหลังยังขาขึ้น กดดันกนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2011 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)รอบถัดไปในเดือนส.ค.นี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะขยับขึ้นอีก 0.25% สู่ระดับ 3.50% และมีความเป็นไปได้ที่จะปรับสูงขึ้นอีกในรอบการประชุมที่เหลือของปี เนื่องจากคาดว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อยังน่าจะมีน้ำหนักสำคัญต่อการพิจารณากำหนดจุดยืนนโยบายการเงินของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 จะอยู่ในกรอบที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 4.5% เร่งขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกที่อยู่ที่ 3.56% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจขยับขึ้นมามีค่าเฉลี่ยไม่ต่ำว่า 2.8% เร่งขึ้นจากค่าเฉลี่ย 1.91% ในช่วงครึ่งปีแรก โดยยังคงมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานบางเดือนในช่วงที่เหลือของปีจะเกิน 3.0% ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อ 0.5-3.0% ของธปท.

ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 54 แม้ว่าข้อมูลเงินเฟ้อของไทยเดือนล่าสุดจะไม่เร่งตัวขึ้นมากนักแบบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อของไทยยังคงไม่ผ่านพ้นจุดสูงสุด ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงปลายปี 54 หรือในช่วงต้นปี55 ขึ้นอยู่กับข้อสรุปรายละเอียดของแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของรัฐบาลชุดใหม่

โดยในกรณีที่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่ค่อนข้างมากในรอบเดียวในเดือนม.ค.55 โดยไม่มีมาตรการในส่วนอื่น(เช่น การดูแลราคาพลังงานเพิ่มเติม) มาชดเชย ก็อาจทำให้จุดสูงสุดของเงินเฟ้อเลื่อนออกไปจากเดิมที่คาดว่าเป็นช่วงปลายปี 54 เป็นต้นปี 55 หลังจากที่ผลของการปรับขึ้นค่าจ้างได้ส่งผ่านไปสู่ราคาผู้บริโภคแล้ว

สำหรับตัวแปรในช่วงหลังจากนี้ที่อาจมีผลต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คือ มาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดอายุมาตรการในเดือนก.ย.54 เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเดียวกันกับการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังมีทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก, ความผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศที่จะมีผลต่อทิศทางราคาสินค้าเกษตร, กลไกการส่งผ่านแรงกดดันด้านต้นทุนของผู้ผลิต (พลังงาน-ค่าจ้าง-วัตถุดิบ-อัตราดอกเบี้ย) มายังราคาสินค้าผู้บริโภค ตลอดจนทิศทางของการคาดการณ์เงินเฟ้อที่อาจเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีการเปิดเผยรายละเอียดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ