ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสสูงกว่า 3.50% ภายในสิ้นปี 54 และคาดว่าในการประชุมครั้งหน้า (24 ส.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายและทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบน้อยลง ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมาอยู่ที่ระดับ 3.50%
วานนี้ กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 54 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.08%YOY (เทียบกับปีก่อนหน้า) ซึ่งทรงตัวเทียบกับ 4.06%YOY ในเดือนมิถุนายน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมีนาคมอยู่ที่ 2.59%YOY เทียบกับ 2.55%YOY ในเดือนก่อน
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปยังคงเร่งตัวสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 0.18%MOM (เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาในหมวดพลังงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.37%MOM สืบเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยสูงขึ้น 0.94%MOM ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 7.18%MOM เป็นผลมาจากการยกเลิกมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรี 0-90 หน่วยของรัฐบาล
ทั้งนี้ มองว่าในระยะนี้ยังคงมีแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นอีกในระยะนี้ เนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการใช้จ่ายในประเทศที่ยังเติบโตดีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงและมีโอกาสสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธปท. ที่ 0.5-3.0%
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการและสามารถส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้ง่ายในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้ดี อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับสูง และอัตราการว่างงานต่ำ (0.5% ในเดือน พ.ค.) ทำให้อัตราเงินเฟ้อปีหน้าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกถ้าหากนโยบายนี้ถูกบังคับใช้จริง ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ ธปท. อาจขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า 3.50% ภายในสิ้นปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อคาดการณ์ที่สูงขึ้น