ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปี 54 โต 12-14%,ปี 55 รับค่าแรงใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2011 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปี 54 อัตราการขยายตัวของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะขยับขึ้นมาที่ประมาณร้อยละ 12.0-14.0 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 53 หลังจากในเดือน พ.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 53 และร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 53 ขณะที่คาดว่าการแข่งขันด้านราคา (Management Fee) จะยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่บริษัทจัดการใช้เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งตลาด นอกเหนือไปจากการแสวงหาผลิตภัณฑ์การลงทุนรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เป็นผลจากการสนับสนุนของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมการออมเพื่อยามชราหรือยามเกษียณ ส่งผลขับเคลื่อนให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวนนายจ้างและสมาชิกกองทุน รวมทั้งจำนวนเงินนำส่งเข้ากองทุนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในครึ่งหลังของปี 54 ก็ยังคงเป็นโอกาสสำหรับบริษัทจัดการหลายๆ แห่งที่จะเข้าแข่งขันเพื่อเป็นผู้บริหารเงินในกองทุน โดยเฉพาะกองทุนที่มีมูลค่าเงินกองทุนขนาดใหญ่ อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพขององค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมีมูลค่าการครบกำหนดอายุสัญญา 3,000-5,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของธุรกิจในภาพรวมก็ตาม

ขณะที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนเงินนำส่งสะสมจากทั้งลูกจ้างและนายจ้างในระหว่างเดือน รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนและการจ้างงานระหว่างปีน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิในภาพรวมยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวผนวกกับแรงหนุนจากผลตอบแทนของสินทรัพย์ของกองทุนที่เข้ามาในแต่ละปี

ณ สิ้นเดือน พ.ค. 54 จำนวนนายจ้างอยู่ที่ 11,702 ราย เพิ่มขึ้น 706 ราย จาก ณ สิ้นปี 53 ขณะที่จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น 147,770 คน ส่งผลให้มีจำนวนเงินนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น 27,726 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

ภาพรวมธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในช่วง 5 เดือนแรกของปี 54 (เดือน ม.ค. — พ.ค. 54) พบว่า NAV ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 592,859 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 18,784.04 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 53 โดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากผลด้านราคา โดยเฉพาะดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET INDEX) ที่ขยายตัวร้อยละ 3.98 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 53 รวมทั้งจำนวนเงินนำส่งและจำนวนนายจ้างที่เข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เร่งสูงขึ้น แม้ว่าจำนวนกองทุนจะปรับลดลงจำนวน 1 กองทุน มาอยู่ที่จำนวน 481 กองทุน

ส่วนปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปี 55 ได้แก่ ผลด้านนโยบายของภาครัฐภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะการปรับขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างของแรงงาน ซึ่งแม้ว่าจะส่งผลให้รายได้ต่อเดือนของลูกจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนปรับเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อความสามารถในการส่งเงินสะสมจากฝั่งลูกจ้าง แต่ก็อาจกระทบกับต้นทุนการดำเนินงานของฝั่งนายจ้างจนอาจลดแรงจูงใจและความสามารถในการส่งเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีที่การปรับขึ้นอัตราเงินเดือนเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ จำนวนเงินนำส่งทั้งจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างที่เพิ่มขึ้น จากปัจจัยนี้โดยลำพัง จะผลักดันให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-4 เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของ NAV ในกรณีที่อัตราเงินเดือนเพิ่มตามปกติ (คำนวณจาก NAV เดือน พ.ค. 54)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ