In Focusสหรัฐบนเส้นทางวิบากแห่งการปรับเพิ่มเพดานหนี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 3, 2011 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

“หนี้" เป็นภาระที่ไม่พึงประสงค์ หากไม่จำเป็นแล้ว ไม่ว่าใครก็คงจะไม่อยากจะแบกรับไว้ อย่างไรก็ดี เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือบริหารภาระที่ไม่พึงประสงค์นี้ได้ ถ้าเรามีวินัยการเงินและการบริหารจัดการที่ดี แต่ถ้าเป็นเรื่องหนี้ระดับประเทศแล้ว ไม่เพียงแต่วินัยการคลังของรัฐบาลและประชาชนเท่านั้นที่จะมีส่วนช่วย ผู้นำประเทศและนักการเมืองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

นับตั้งแต่ที่สหรัฐมียอดเงินกู้ชนเพดานหนี้ที่ระดับ 14.29 ล้านล้านดอลลาร์ไปเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา และนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงคลังสหรัฐได้ออกมาประกาศว่า สหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้ได้ หากสหรัฐไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ก่อนที่จะถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2554 เรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื่องจากบารัค โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐนั้น ไม่มีอำนาจที่จะอนุมัติให้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้เพียงลำพัง จึงทำให้การจะปรับเพิ่มเพดานหนี้จะต้องดำเนินการโดยผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ แต่วฺฒิสมาชิกนั้น ทางพรรคเดโมแครตกลับครองเสียงข้างมาก

เหตุการณ์สกัดแข้งสกัดขาจึงเกิดขึ้นตามมา เนื่องจากสมาชิกเดโมแครตและรีพับลิกันแต่ละกลุ่มมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาของประเทศ นอกจากนี้ การแก้ปัญหาวิกฤตครั้งล่าสุดของประเทศยังถูกพ่วงไปเป็นประเด็นหาเสียง ทำให้การสร้างผลงานในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีหน้า และการคลี่คลายวิกฤตของสหรัฐครั้งนี้ถูกลากยาวมาจนเฉียดเส้นตาย

28 กรกฎาคม 2554

ทั่วโลกต่างลุ้นระทึกเมื่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐประกาศเลื่อนการลงมติร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้และลดยอดขาดดุลงบประมาณซึ่งเสนอโดยนายจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรออกไป การเลื่อนลงมติในวาระที่สำคัญระดับประเทศนี้ บ่งชี้ถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากของสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ

นอกจากนี้ การประกาศเลื่อนการลงมติร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นว่า นายโบห์เนอร์ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกภายในกลุ่มให้รับรองข้อเสนอของเขาได้

ร่างกฎหมายฉบับนายโบห์เนอร์ได้เสนอโครงการ 2 ขั้นตอน เพื่อปรับลดงบประมาณรายจ่ายและปรับเพิ่มเพดานหนี้ชั่วคราว และจะดำเนินการเช่นนี้อีกครั้งหนึ่งในปีหน้า โดยแผนของนายโบห์เนอร์เริ่มต้นด้วยการปรับเพิ่มเพดานหนี้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในวันที่ 2 ส.ค. และปรับลดงบรายจ่ายลงในระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น

29 กรกฎาคม 2554

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านแผนการปรับเพิ่มเพดานหนี้ ที่เสนอโดยนายจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ในการลงมติเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 29 ก.ค. (ตรงกับเช้าวันเสาร์ตามเวลาประเทศไทย) แต่แผนดังกล่าวก็ถูกคว่ำในเวลาเพียงไม่ถึง 2 ชั่วโมงในเวทีของวุฒิสภาซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่มองว่า มาตรการ 2 ขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะมาตรการดังกล่าวกำหนดให้ต้องมีการอภิปรายเรื่องเพดานหนี้อีกครั้งในช่วงต้นปีหน้า

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโอบามาออกมาระบุว่า จะวีโต้แผนการเพิ่มเพดานหนี้ฉบับนายโบห์เนอร์ที่เปิดทางให้สหรัฐมีอำนาจในการกู้ยืมได้จนถึงต้นปีหน้าเท่านั้น ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เพราะสหรัฐจะต้องมาหารือกันเกี่ยวกับการปรับเพิ่มเพดานหนี้อีก ทั้งที่ปลายปีนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

31 กรกฎาคม 2554

แต่ในที่สุด ประธานาธิบดีโอบามาก็ได้ออกมาประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงการปรับเพิ่มเพดานหนี้และการลดยอดขาดดุลงบประมาณ ร่วมกับผู้นำพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต โดยข้อตกลงดังกล่าวกำหนดว่า รัฐบาลจะต้องปรับลดการใช้จ่ายมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปี และจะปรับเพิ่มเพดานหนี้ 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ไปจนถึงปี 2555

1 สิงหาคม 2554

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอนุมัติร่างกฎหมายปรับเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐด้วยคะแนนเสียง 269 ต่อ 161 อีกอย่างน้อย 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งลดการใช้จ่ายลง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปี โดยในเบื้องต้นนั้น รัฐบาลจะต้องลดงบประมาณการใช้จ่ายด้านกลาโหมและการรักษาความมั่นคงด้านอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ครองส่วนแบ่งสูงกว่าครึ่งหนึ่งของงบรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมด

สมาชิกเดโมแครตและรีพับลิกันต้องปรองดองกันเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าผลจากการประนีประนอมนี้จะห่างไกลจากเป้าหมายของแต่ละฝ่ายก็ตาม โดยรีพับลิกันว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง แม้ว่าการปรับลดการใช้จ่ายังไม่มากพอ ขณะที่สมาชิกเดโมแครตบางส่วนกังวลเรื่องการลดการใช้จ่ายลงมากเกินไปในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเปราะบาง

นอกจากนี้ สมาชิกรีพับลิกันบางส่วนยังไม่พอใจที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุถึงเรื่องการออมให้มากกว่านี้ ส่วนฝ่ายเสรีนิยมมองว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้อิงกับการลดงบประมาณเท่านั้น แต่ไม่ระบุถึงการขึ้นภาษีผู้มีรายได้สูง

2 สิงหาคม 2554

วันนี้ที่รอคอยของสหรัฐ เมื่อวุฒิสภาสหรัฐลงมติผ่านร่างกฎหมายการปรับเพิ่มเพดานหนี้ด้วยคะแนนเสียง 74 ต่อ 26 เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น.ตามเวลาไทยในวันที่ 2 สิงหาคม และร่างกฎหมายดังกล่าวได้ยื่นต่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว

ตลาดหุ้นร่วงเป็นแถบ-ต้ากงเปิดฉากหั่นเครดิตสหรัฐ

ไม่นานหลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐลงมติผ่านร่างกฎหมาย และบารัค โอบามา ได้ลงนามรับรองกฎหมายการปรับเพิ่มเพดานหนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ก็ออกมาเคลื่อนไหวในทันที ต้ากง โกลบอล เครดิต เรทติ้งส์ โค ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของจีน ประกาศหั่นอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงสู่ระดับ A จากระดับ A+ ในวันนี้ พร้อมกับให้แนวโน้ม "เชิงลบ"

ต้ากงระบุว่า การตัดสินใจปรับเพิ่มเพดานหนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า หนี้สินของสหรัฐมีมากกว่าประเทศอื่นๆทั่วโลก และมีมากกว่ารายได้ด้านการคลังของสหรัฐเอง ซึ่งสภาวะเช่นนี้จะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงด้วย

ต้ากงประมาณการว่า สหรัฐจะต้องปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณลงให้ได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงจะสามารถประคับประคองสถานะการคลังและความสามารถในการชำระหนี้เอาไว้ได้ พร้อมกับคาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.5% ต่อปี ในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากความอ่อนแอในการคุมเข้มนโยบายด้านการเงินและการคลัง

ขณะที่มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐที่ AAA แต่มูดีส์ได้ให้แนวโน้มความน่าเชื่อถือของสหรัฐเป็น "เชิงลบ" ขณะที่ฟิทช์เตือนว่า สหรัฐอาจจะต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากในไม่ช้านี้

มูดีส์ระบุว่า การปรับเพิ่มเพดานหนี้เบื้องต้น 9 แสนล้านดอลลาร์ และการปรับเพิ่มเพดานหนี้อีก 1.2-1.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้นั้น จะช่วยขจัดความเสี่ยงที่สหรัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งนับเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มูดีส์ตัดสินใจคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐไว้ที่ AAA

"การทำข้อตกลงปรับเพิ่มเพดานหนี้เมื่อวานนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่จะบรรลุเป้าหมายการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการคลังในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐให้อยู่ที่ระดับ AAA ในระยะยาว" มูดีส์ระบุ

อย่างไรก็ตาม มูดีส์เตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ หากวินัยด้านการคลังอ่อนแอลงในปีหน้า หรือหากสหรัฐไม่ได้นำมาตรการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการคลังมาใช้ในปี 2556

ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในเอเชียและตลาดหุ้นยุโรปร่วงลง แม้ว่าร่างกฎหมายปรับเพิ่มเพดานหนี้จะได้รับไฟเขียวไปแล้วก็ตาม เนื่องจากตลาดไม่มั่นใจว่าสหรัฐจะสามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้ นอกจากนี้ ตลาดยังวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยตัวเลขการใช้จ่ายด้านการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐที่ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปีนั้น เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงและทำให้นักลงทุนมีมุมมองที่เป็นลบ

ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลสหรัฐขยับขึ้นเพียง 0.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว และเป็นหลักฐานครั้งใหม่ที่บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นไปอย่างเชื่องช้า นักวิเคราะห์บางรายมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง

ความวิตกกังวลระลอกใหม่

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลผู้โด่งดังมองว่า รัฐบาลสหรัฐจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุน และสร้างงาน แต่ต้องไม่ลดงบประมาณ ซึ่งข้อตกลงเพื่อปรับเพิ่มเพดานหนี้ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ถูกกดดันอยู่แล้ว ส่วนการลดงบประมาณการใช้จ่ายลงในขณะที่เศรษฐกิจเปราะบางอยู่นั้น ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ด้านงบประมาณดีขึ้นแต่อย่างใด

ก่อนหน้าที่สหรัฐจะตกลงกันได้นั้น สื่อหลายสำนักก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันถ้วนหน้า เติ้ง หยูชาน จากสำนักข่าวซินหัว วิจารณ์อย่างหนักว่า การกระทำของนักการเมืองสหรัฐถือว่าไร้ความรับผิดชอบอย่างมาก เนื่องจากสหรัฐเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นเจ้าของสกุลเงินที่เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก ดังนั้นความเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก

หยูชานกล่าวว่า การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างลากับช้าง (สัญลักษณ์ของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน) ถือเป็นเรื่องภายในประเทศ แต่ที่น่าเกลียดคือประเทศอีกหลายประเทศทั่วโลกต้องมารับผลกระทบไปด้วย

นักสังเกตการณ์หลายคนมองว่า ตลาดเงินของสหรัฐน่าจะได้รับอานิสงส์จากการแก้ปัญหาดังกล่าวแค่ระยะสั้นๆเท่านั้น แต่ปัญหาหนี้ในสหรัฐอาจจะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้

ด้านนักเศรษฐศาสตร์จากชินฮัน อินเวสท์เมนท์ คอร์ป ในเกาหลีใต้ มองว่า การที่สหรัฐสามารถผลักดันให้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ก่อนเส้นตายนั้น จะทำให้โอกาสที่สหรัฐจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมนั้นมีน้อยลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากข้อตกลงในการปรับเพิ่มเพดานหนี้นั้นครอบคลุมถึงเรื่องการลดยอดขาดดุลของประเทศและการลดยอดการใช้จ่ายลง

นักวิเคราะห์จากโซโลมอน อินเวสท์เมนท์ แอนด์ ซิเคียวริตีส์ กล่าวกับซินหัวว่า หากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาหนี้ตามมาอีกได้ แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจจะทำให้สหรัฐต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสินเชื่อได้

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 2 นั้น สะท้อนถึงความเป็นจริงที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ช่วงชะลอตัว โดยไตรมาส 2 ของปีนี้ จีดีพีของสหรัฐขยายตัว 1.3% ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวที่ประมาณ 1.8%

ผอ. IMF และผู้ว่าแบงก์ชาติจีนให้กำลังใจ

นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า IMF ยินดีที่สหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับเพิ่มเพดานหนี้และลดยอดขาดดุลของรัฐบาลกลาง การที่สหรัฐพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการคลังและลดความผันผวนครั้งใหญ่ในตลาดนั้น ข้อตกลงนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก

นายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน แสดงความยินดีกับสหรัฐที่ลงนามบังคับใช้กฎหมายปรับเพิ่มเพดานหนี้ โดยธนาคารกลางจีนจะติดตามการดำเนินงานภายใต้กฎหมายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

จีนเป็นประเทศผู้ถือครองตราสารหนี้ต่างชาติรายใหญ่สุดของสหรัฐ โดยมูลค่าการถือครองตราสารหนี้ของสหรัฐนั้นสูงถึง 1.15 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

ผู้ว่าธนาคารกลางจีนกล่าวว่า ตราสารหนี้สหรัฐเป็นหนึ่งในเครื่องการลงทุนที่แข็งแกร่งที่สุดในตลาดโลก แต่ความผันผวนและความไม่แน่นอนในระดับสูงในตลาดนี้จะบั่นทอนเสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

นายโจวกล่าวด้วยว่า จีนคาดหวังว่าคณะทำงานของสหรัฐและสภาคองเกรสจะใช้มาตรการด้านนโยบายที่มีความรับผิดชอบในการรับมือกับหนี้สิน โดยพิจารณาผลประโยชน์โดยรวมและของสหรัฐ นอกจากนี้ จีนจะยังคงกระจายการลงทุนในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการบริหารความเสี่ยง และลดผลกระทบในด้านลบจากความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลก

คงจะได้เห็นกันแล้วว่า หนี้ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่างๆ ตามมามากมาย ต่อจากนี้ไป ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามแผนการของสหรัฐ รวมทั้งอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะรอดพ้นจากภาวะชะงักงันได้หรือไม่อย่างไรนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอีกยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ