นายกรัฐมนตรีอิตาลีแสดงความมั่นใจว่า เศรษฐกิจของประเทศยังคงแข็งแกร่ง แต่เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤตไปให้ได้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ของอิตาลี กล่าวในสภาว่า สหภาพยุโรป (อียู) อนุมัติร่างนโยบายรัดเข็มขัดที่รัฐบาลอิตาลีเสนอไปเมื่อเดือนที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับตลาดหุ้นได้ เนื่องจากทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤตความเชื่อมั่น
ตลาดหุ้นมิลานปิดร่วงลง 3 วันทำการติดต่อกันในสัปดาห์นี้ โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ดัชนี FTSE MIB ตกลงไป 1.54% มาแตะอยู่ที่ 17,006 จุด ขณะเดียวกันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ค่าสเปรดของพันธบัตรเยอรมันเพิ่มขึ้นไปเป็น 3.85 จุด ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีการใช้สกุลเงินยูโร ก่อนที่จะตกลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ 3.68 จุด เมื่อตลาดปิดทำเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
แบร์ลุสโคนีเชื่อว่า ตลาดยังไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของอิตาลีมีความแข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นแข็งแกร่ง นอกจากนี้ธนาคารในอิตาลีซึ่งผ่านการทดสอบสภาวะวิกฤต (stress test) ของอียูเรียบร้อยแล้วนั้นยังมีสภาพคล่องและมีความสามารถในการชำระหนี้ ขณะที่ความมั่งคั่งของชาวอิตาเลียนก็มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม แบร์ลุสโตนีเตือนว่า ไม่ควรจะประมาทวิกฤตการณ์ดังกล่าว และรัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการฉุกเฉินทันที เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดปัญหาขาดดุลและหนี้สิน
แบร์ลุสโคนียังเรียกร้องให้ภาคแรงงาน ธุรกิจ และการเมืองประสานความร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็คือ เสถียรภาพและการขยายตัว
“ถึงเวลาที่เราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เสถียรภาพมักจะกลายเป็นไพ่ที่เหนือกว่าเมื่อต้องเผชิญกับข่าวลือต่างๆนานา" แบร์ลุสโคนีกล่าว พร้อมเสริมว่าเขาเองเป็นผู้ประกอบการเช่นกัน และมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น 3 แห่ง จึงรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นทุกๆวันเป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดี จอร์โจ นาโปลิตาโน ของอิตาลี เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในภาคการเมืองกำหนดนโยบายเร่งด่วน เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและการสร้างงาน