นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "อัตราเงินเฟ้อ...ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและภาคอุตสาหกรรม" จัดโดย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยว่า ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีจนกลับมาเติบโตใกล้ระดับศักยภาพนั้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ อาจเป็นบ่อเกิดของความเปราะบางทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ หากมองไปข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีก
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อผู้ฝากเงิน ในขณะที่ลดแรงจูงใจของผู้กู้ โดยการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งยืนยันว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาทำด้วยความระมัดระวังและพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อแรงส่งของเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย ซึ่งการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ไม่ได้ทำให้แรงส่ง หรือ momentum ของการลงทุนและเศรษฐกิจต้องเสียไป
โดยในส่วนของภาคธุรกิจโดยรวม สัดส่วนของต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 5% ของต้นทุนรวม ซึ่งคาดว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงสามารถรองรับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ และอาจมองได้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยป้องกันปัญหาเงินเฟ้อไม่ให้ลุกลามจนทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่มีสัดส่วนสูงกว่าต้องเร่งขึ้น
สำหรับในกรณีของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน จะเห็นแรงกดดันด้านราคาที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากปัจจัยรอบด้าน ในส่วนของอุปสงค์ พบว่ายังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งไปกับเศรษฐกิจในภาพรวมในช่วงที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากรายได้ภาคเกษตรและการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี รายได้จากภาคการส่งออกก็ยังสามารถขยายตัวได้สม่ำเสมอ รวมทั้งแรงกระตุ้นทางการคลังจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีอยู่ต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ยที่ยังถือว่าไม่สูงมากนัก
"ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตเข้าใกล้อัตราที่เป็นระดับศักยภาพแล้ว และหากเศรษฐกิจเริ่มที่จะเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นกว่าศักยภาพ ก็อาจเข้าขั้นร้อนแรง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ได้ง่ายขึ้น" นายประสาร กล่าว
ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงทิศทางของนโยบายการเงินในระยะต่อไปว่า จะต้องขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นภายใต้เศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่องว่ามีมากน้อยเพียงใด นอกจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังมีการใช้เครื่องมือเสริมอื่นๆ เพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ เช่น มาตรการเสริมเพื่อเตรียมการป้องกันการเร่งขึ้นของราคาที่อาจเกิดขึ้นเฉพาะในบางภาคเศรษฐกิจที่เรียกว่า "Macroprudential policy" ควบคู่ไปด้วย ได้แก่ มาตรการกำหนด Loan To Value Ratio เพื่อดูแลการให้สินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรการลักษณะนี้จะช่วยป้องกันความเปราะบางที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย
"ปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่น่ากังวล และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากลุกลามออกไป จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งในระยะสั้น ต่อการบริโภค การลงทุน และการผลิต และในระยะยาว ที่อาจเป็นผลลบต่อเสถียรภาพและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ" นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า เศรษฐกิจเปรียบเหมือนกับบ้านหลังใหญ่ที่ผู้อยู่อาศัยต้องบำรุงรักษาให้คงทนแข็งแรงเพื่อเป็นที่พักพิงของครอบครัว เงินเฟ้อเปรียบได้กับปลวกที่จะคอยกัดกินโครงสร้างของบ้านการดูแลรักษาบ้านให้อยู่รอดปลอดภัยก็คงจะไม่ใช่การฉีดยากำจัดปลวกทุก 3 เดือน 6 เดือน อย่างที่นโยบายภาครัฐช่วยดูแลเงินเฟ้อและผลกระทบในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว
ในระยะยาว เสาทุกต้น กรอบหน้าต่างทุกบาน หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีความแข็งแกร่งคงทนอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่แนวทางบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อจะต้องมุ่งไปในทิศทางที่เพิ่มความสามารถในการปรับตัวและประสิทธิภาพในการผลิตของภาคธุรกิจ ขณะที่ภาครัฐก็ต้องมีนโยบายที่สอดรับกับการปรับตัวดังกล่าว ผ่านการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในวงกว้างขึ้น เพื่อสนับสนุนให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างทั่วถึงและยั่งยืน
"ปัญหาเงินเฟ้อเหมือนกับปลวก หากเรานับว่าปลวกเป็นศัตรูสำคัญของสิ่งปลูกสร้าง เงินเฟ้อก็ถือเป็นศัตรูที่กัดกินมูลค่าของเงินที่เราทำมาหาได้ ส่งผลลดทอนความสามารถในการบริโภคและการผลิตสินค้าของประชาชนและผู้ประกอบการ กลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว