นายคนิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังคงมาจากการบริโภค การลงทุนในประเทศ และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงความชัดเจนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ซึ่งช่วยผลักดันการใช้จ่ายและการลงทุนเพิ่ม
เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% แต่ยังมีความกังวลจากปัญหาเงินเฟ้อที่มีปัจจัยกระตุ้นจาก demand pull ที่รายได้ภาคเกษตรที่ดีขึ้น มีการจ้างงานที่ดี รวมถึงอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวได้ดี และแรงกระตุ้นจาก cost push ที่ราคาน้ำมันในช่วงขาขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารสูงขึ้น ทำให้เร่งการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ โดยทั้งปีคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.6-3.8%
สำหรับภาคการส่งออกที่เป็นกลไกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คาดว่าทั้งปีการส่งออกจะขยายตัว 20% จากช่วงครึ่งปีแรกที่ส่งออกขยายตัวแล้ว 23.6% แต่ช่วงที่เหลือของปีจะมีแรงกดดันการส่งออกจากราคาน้ำมันในช่วงขาขึ้น ค่าจ้าง การแข็งค่าของเงินบาท ดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคทางการค้าใหม่ๆ และปัญหาเศรษฐกิจโลกเรื้อรัง ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ประเมินว่าจากปัญหาหนี้สินของสหรัฐ ยุโรป ทำให้ต้องมีการออกมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือยได้รับผลกระทบ ทั้งกลุ่มอัญมณี เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงกุ้งแช่เย็นและแช่แข็ง
นายคนิสร์ ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของธนาคารว่า ในช่วงครึ่งปีแรกธนาคารมีกำไรสุทธิหลังหักสำรอง 301 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดสินเชื่อคงค้าง 61,189 ล้านบาท ขยายตัว 13.31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของสินเชือระยะยาวทั้งในและต่างประเทศ มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 3,174 ล้านบาท คิดเป็น 51.15% ของสินเชื่อและดอกเบี้ยงค้างรับ ลดลงจากสิ้นปี 53 ที่อยู่ 6.22%
อย่างไรก็ตาม ปี 54 คาดว่าธนาคารจะมีกำไรสุทธิหลังหักสำรองมากกว่า 600 ล้านบาท ตามที่ได้มีการทำข้อตกลงเป็น KPI กับบริษัท ทริส เรทติ้ง โดยทั้งปีตั้งเป้ามีสินเชื่อคงค้าง 65,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะเกินเป้าหมายเช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนการลงทุนวางระบบใหม่ใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบปฎิบัติการทดแทนระบบเดิม โดยจะเน้นการวางระบบการปล่อยสินเชื่อ Trade Finance และ Insurance คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเวลา 18 เดือน
ทั้งนี้ ระยะต่อไปธนาคารได้วางแนวนโยบายดำเนินธุรกิจ โดยแบ่งพอร์ตสินเชื่อเป็นเชิงพาณิชย์ และเชิงนโยบาย โดยจะเน้นการพัฒนาผู้ส่งออก SMEs มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ส่งออกที่เป็น SMEs ราว 15,000 ราย แต่เป็นลูกค้าของธนาคารประมาณ 1,000 ราย คิดเป็นพอร์ตสินเชื่อประมาณ 20,000 ล้านบาท ธนาคารวางเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนลูกค้า SMEs มากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่
"ต่อไปแผนสนับสนุนเอสเอ็มอีจะชัดเจนมากขึ้น มีการวางเป็นนะโยบายที่จะทำอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยเราไม่ต้องรอนโยบายของรัฐบาลใหม่ แต่ถือเป็นแผนที่เราต้องสนับสนุน" นายคนิสร์ กล่าว