นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ จะกระทบต่อการลงทุนของไทยบ้าง แต่เชื่อว่าการลงทุนในกลุ่มเอเชียจะมีการขยายตัวต่อเนื่อง และบีโอไอจะเน้นทำตลาดในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น ซึ่งทำให้ไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐน้อยลง
ส่วนนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่จะปรับลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 จะไม่มีผลต่อการลงทุนในปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ 4-5 แสนล้านบาท บีโอไอได้หารือกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง และมีความเห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการลงทุน โดยในส่วนของบีโอไอขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุน โดยจะยังมีทั้งมาตรการทางภาษี และการให้สิทธิประโยชน์กับกิจการลงทุนที่มีความสำคัญ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
"ขณะนี้ยังไม่สามารถลงในรายละเอียดได้ โดยคาดว่าภายในเดือนกันยายนจะสามารถสรุปรายละเอียดในประเภทกิจการและมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนเพื่อเสนอต่อบอร์ดบีโอไอต่อไป" นางอรรชกา กล่าว
ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนจะยังคงไว้ในบางกิจการที่มีความสำคัญ ซึ่งการลดภาษีนิติบุคคลอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์เสริมควบคู่กันไป และในอนาคตบีโอไอไม่ได้เน้นเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนในเชิงมูลค่า แต่จะคำนึงถึงคุณภาพโครงการเป็นหลัก เช่น การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน,อุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง และอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น พลังงานทดแทน เป็นต้น
ด้านนายอรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ไม่น่าจะมีผลต่อการจัดประชุมสัมมนาในประเทศไทย เพราะผู้จัดประชุมส่วนใหญ่เป็นบริษัทมหาชน ที่จะต้องเดินหน้าการลงทุนตามแผน แต่อย่างไรก็ตาม สสปน.จะพยายามมุ่งเน้นตลาดเอเชียให้มากขึ้น และลดการพึ่งพาตลาดหลักอย่างยุโรปและสหรัฐฯ พร้อมทั้งยอมรับว่าเป็นห่วง หากเศรษฐกิจโลกมีปัญหาจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางในระยะยาว และกระทบต่อธุรกิจการบิน ดังนั้น ไทยจึงต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียนให้ได้
อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่าการที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนและเข้ามาจัดประชุมสัมมนาในประเทศไทยมากขึ้น และถึงแม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยจะมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่การจัดประชุมสัมมนาก็ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2555 ยอดการจัดประชุมสัมมนา จะขยายตัวร้อยละ 15-20 จากปีนี้ที่คาดว่า จะมีผู้เข้าประชุมในไทย 820,000 คน คิดเป็นมูลค่า 72,000 ล้านบาท และในปี 2559 จะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านคน หรือมีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท