Analysis: ราคาผู้บริโภคเกาหลีใต้ส่อแววพุ่งทะลุ 5% หลังเกิดวิกฤตนมในปท.

ข่าวต่างประเทศ Friday August 5, 2011 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขณะนี้กำลังมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่า ราคาผู้บริโภคของเกาหลีใต้อาจจะขยายตัวสูงกว่าระดับ 5% ในเดือนนี้ เนื่องจากการขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมซึ่งมีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์นม โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ของเกาหลีใต้ได้ระงับการจัดส่งน้ำนมดิบเป็นเวลา 1 วันเมื่อวานนี้ โดยให้เหตุผลว่า ราคาน้ำนมดิบควรจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 877 วอน (0.83 ดอลลาร์) ต่อลิตร ซึ่งเพิ่มขึ้น 25% จากระดับปัจจุบันที่ 704 วอน

เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมระบุว่า ตนเองต้องรับมือกับหนี้สิน เนื่องจากราคาน้ำนมดิบทรงตัวที่ระดับเดิมมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แม้ว่า ราคาอาหารสัตว์จะพุ่งขึ้นไปอีก 30% ตั้งแต่ปี 2551 โดยเจ้าหน้าที่ของสมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนมของเกาหลีใต้ (KDBFA) เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า ราคาอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้นประมาณ 30% นับตั้งแต่ปี 2551 แต่ราคาน้ำนมดิบยังคงที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการเรียกร้องให้มีการขึ้นราคา 25% จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาจากต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบที่แท้จริง

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวให้ข้อมูลว่า สัดส่วนของต้นทุนอาหารสัตว์ต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80% ซึ่งดีดตัวขึ้นอย่างมากจากระดับ 65% ในปี 2553 โดย KDBFA ซึ่งเป็นกระบอกของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ระบุว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจะระงับการจัดส่งน้ำนมดิบอย่างไม่มีกำหนด หากว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้รับการตอบสนองภายในวันนี้ ขณะเดียวกัน บริษัทผลิตภัณฑ์นมก็ยึดติดกับจุดยืนของตนเองที่ว่า ไม่สามารถยอมรับข้อเรียกร้องของเกษตรกรได้ เนื่องจากราคาน้ำนมดิบที่ดีดตัวสูงขึ้นมากอาจจะทำให้ราคาผลิตภัณฑ์นมโดยรวมสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้การบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ลดลง บริษัทเหล่านี้แนะว่า เกษตรกรควรจะยอมรับการขึ้นราคาที่ 785 วอน แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะห่างไกลจากตัวเลขที่เกษตรกรเสนอมาที่ 877 วอนก็ตาม

การเผชิญหน้ากันครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่การจัดส่งน้ำนมดิบขาดเสถียรภาพมาตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องกำจัดปศุสัตว์ไปเกือบ 150,000 ตัว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยจำนวนนี้เป็นวัวนมประมาณ 36,000 ตัว ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันด้านอุปทานนมวัว ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เพิ่มโควต้าการนำเข้านมผงปลอดภาษีเป็น 30,000 ตัน เพื่อรับมือกับการขาดแคลนนม ซึ่งมีผลบังคับใช้จนกระทั่งถึงสิ้นปีนี้ อัตราภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์นม เช่น เนย และ ชีส ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับศูนย์ จากระดับเดิมที่ 40% และ 36% ตามลำดับ

แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการต้านเงินเฟ้อ แต่คาดว่าการขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมจะเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อผู้บริโภคซึ่งยังคงอยู่ที่ระดับสูงมาตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยราคาผู้บริโภคเกาหลีใต้ทะยานขึ้น 4.7% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนก.ค. ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเพดานเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้กำหนดไว้ที่ 2-4% มาเป็นเวลา 7 เดือนติดต่อกัน และยังขยายตัวเร็วกว่าอัตราการขยายตัวที่ 4.4% ในเดือนมิ.ย.

ยัม ซัง-ฮุน นักวิเคราะห์ของเอสเค ซิเคียวริตีส์ กล่าวกับซินหัวว่า เมื่อราคาน้ำนมสูงขึ้น ดังเช่นที่เคยพุ่งรุนแรงเมื่อช่วงปลายปี 2547 และ 2551 เงินเฟ้อผู้บริโภคก็อาจจะพุ่งทะลุระดับ 5% ในเดือนส.ค. เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์นมที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ราคาผลิตภัณฑ์นมทะยานขึ้นประมาณ 20% ในช่วงปลายปี 2547 และทะยาน 25% ในปี 2551 หลังจากที่มีการปรับราคาน้ำนมดิบให้สูงขึ้น หากราคาน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นอีก 173 วอน ตามที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ได้เรียกร้อง ก็มีแนวโน้มว่าบริษัทผลิตภัณฑ์นมจะขึ้นราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นมอีกประมาณ 200 วอน ซึ่งจะสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมากขึ้น โดยสัดส่วนผลิตภัณฑ์นมต่อผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่รวมอยู่ในดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ 1.1% ซึ่งหมายความว่าการขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม 10% จะทำให้อัตราการขยายตัวของดัชนี CPI สูงขึ้นอีกประมาณ 0.1%

นายยัมกล่าวว่า การขึ้นราคาน้ำนมดิบอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาผู้บริโภคมากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากการขึ้นราคาน้ำนมดิบจะส่งผลกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เช่น ขนมปัง เค้ก และไอศครีม นอกเหนือไปจากผลิตภัณฑ์นม อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆคาดการณ์ว่า ผลกระทบจากการขึ้นราคาจะไม่มากพอที่จะทำให้เงินเฟ้อผู้บริโภคดีดตัวขึ้นสูงกว่า 5%

ยูน ชาง-ยอง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของชินฮัน อินเวสท์เมนท์ คอร์ป กล่าวกับซินหัวว่า ราคาน้ำนมดิบที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อผู้บริโภคอยู่บ้าง เนื่องจากนมเป็นส่วนประกอบของอาหารแปรรูปหลายประเภท แต่ผลกระทบคงจะไม่มากนัก เมื่อพิจารณาจากการที่ผลิตภัณฑ์นมมีสัดส่วนน้อยในดัชนี CPI โดยนายยูนระบุว่า เงินเฟ้อผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากค่าบริการสาธารณะ เช่น ค่าไฟ ค่าขนส่ง มากกว่าได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์นม เนื่องจากรัฐบาลวางแผนที่จะขึ้นค่าบริการต่างๆดังกล่าวแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังนี้

ทั้งนี้ กระทรวงเศรษฐกิจความรู้ของเกาหลีใต้ได้ประกาศขึ้นค่าไฟอีก 4.9% โดยเฉลี่ย ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนส.ค.นี้ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ราคาผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นอีก 0.038% เนื่องจากการขึ้นค่าไฟ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะดีดตัวขึ้นสูงสุดในเดือนส.ค. ก่อนที่จะปรับตัวลงในไตรมาส 4 เนื่องจากผลของฐานที่อยู่ในระดับต่ำในปีก่อน โดยเมื่อปีที่แล้ว เงินเฟ้อผู้บริโภคขยายตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% ในเดือนก.ย. จากระดับ 2.6% ในเดือนส.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ