(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท.ยอมรับมีการแทรกแซงเงินบาท หลังเคลื่อนไหว 2 ทิศทาง-ติดตามใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2011 14:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวยอมรับ ธปท.มีการเข้าแทรกแซงดูแลค่าเงินบาท หลังจากช่วงนี้เงินบาทมีการเคลื่อนไหว 2 ทิศทาง จากความกังวลปัญหาเศรษฐกิจโลกที่อ่อนไหว

ทั้งนี้ ธปท.มีการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมยืนยันว่า ยังใช้เครื่องมือเดิมในการจัดการดูแลได้ แต่ได้เตรียมพร้อมของเครื่องมือในการดูแลไว้

"ธปท.มีมาตรการที่จะเป็นภูมิคุ้มกันที่มีเงินไหลเข้าได้ทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศระดับสูงซึ่งมีโอกาสเข้าไปดูแลและนโยบายดูแลแบบยืดหยุ่นและมีมาตราการเพียงพอซึ่งก่อนหน้านี้มีมาตรการผ่อนคลายการนำเงินเข้าออกตามการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ใช้กฏระเบียบซึ่งใช้ได้ดี ขณะเดียวกันมีการวางนโยบายกำกับค่าเงินจากธปท. เพื่อดูการเก็งกำไร โดยธปท.ดำเนินการอย่างจริงจังและเข้มงวดเพื่อไม่ให้เพิ่มความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ" นายประสาร กล่าว

สำหรับเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปัจจุบันอยู่ระดับสูง ธปท. เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่จัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติหรือ Sovereign Welth Fund เพื่อเป็นทางเลือกในการบริหารเงินระหว่างประเทศให้เกิดความคล่องตัวและต้องมีระบบการจัดการที่ดี

"การตั้งกองทุน Sovereign Welth Fund ต้องมีธรรมาภิบาลที่ดีต้องมีการแลกเปลี่ยนกันเช่นว่าเอาสินทรัพย์ไปก็ต้องเอาหนี้สินไปด้วยโดยระบบบัญชีต้องทำทั้งสองด้านทั้งสินทรัพย์และหนี้สิน"
สำหรับการที่นักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยจะเกิดฟองสบู่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์จะเห็นได้ว่าระดับราคาการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เพิ่มมากเหมือนในอดีตที่เกิดฟองสบู่ที่ผ่านมา

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 41%ของจีดีพี ซึ่งกระทรวงการคลังต้องการควบคุมไม่ให้หนี้สาธารณะเกิน 60%ของจีดีพี ซึ่งควรรักษาแนวทางดังกล่าวไว้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันของประเทศภายใต้สถานการณ์ที่ตลาดการเงินโลกมีความอ่อนไหวจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปดังนั้น การดำเนินนโยบายของรัฐบาลไม่ควรเป็นการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเนื่องจากในปีนี้ และปีหน้า เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนทั้งจากการบริโภค การลงทุนและการส่งออก และเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปตามศักยภาพ ดังนั้หากมีการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ จะเป็นการสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีก แต่มองว่าในระยะยาว รัฐบาลควรมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ โดยต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อรักษาภูมิคุ้มกันภายในตลาดโลกที่เปราะบาง

"การกระตุ้นอุปสงค์ จะทำให้เกิดการยิ่งใช้นโยบายการเงินเข้าดูแล เพราะหากเศรษฐกิจขยายตัวไปสู่ศักยภาพ แต่หากกระตุ้นเต็มที่จะทำให้เครื่องร้อน และยิ่งสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมากขึ้น ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และทำให้หน้าที่ความรับผิดชอบมาอยู่ที่แบงก์ชาติ" ผู้ว่า ธปท. กล่าว

ทั้งนี้ยังยืนยันว่า ในปีงบประมาณ 55 รัฐบาลควรคงนโยบายขาดดุลงบประมาณที่ 350,000 ล้านบาท โดยที่คาดว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้เกินกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ และจะทำให้รัฐบาลมีเงินใช้จ่ายได้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ