นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ความมั่นใจต่อระบบคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน" ในงานสัมนา เรื่อง"การคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน" ว่า ขณะที่ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีของการเปลี่ยนผ่านมาใช้ระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัด เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้เป็นไปตามเงื่อนไข 4 ด้าน คือ 1. เศรษฐกิจของประเทศมีฐานะมั่นคง มีการเติบโตที่ดี เห็นได้จากช่วงครึ่งแรกปี 54 เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยลบ ทั้งราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น ปัญหาภัยธรรมชาติ ความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่เศรษฐกิจไทยยังรับมือได้และเศรษฐกิจเติบโตได้ดี ขณะช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยภายใน ทั้งการบริโภคการลงทุน และปัจจัยภายนอกจากการส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ที่เติบโตได้ดี โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในอัตรา 4.1% และปี 55 ขยายตัว 4.2% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และแรงกกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ
2. ฐานะความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินภายใต้ระบบคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งจากการติดตามดูแลธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศได้มีการดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เน้นการบริหารความเสี่ยง มีธรรมาภิบาล เห็นได้ว่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย.54 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 15.5% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรเติบโต 29.4% มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 25.24% (สาขาธนาคารต่างประเทศอยู่ที่ 16.1%) มีระดับ NPL อยู่ที่ 2.95% มีสินทรัพย์สภาพคล่อง 32.9% และระดับเครดิตอยู่ใกล้เคียงเครดิตของประเทศ
3.ระบบกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานรัฐเข้าจัดการธนาคารพาณชิย์ที่มีปัญหาได้แต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันปัญหาลุกลาม โดยเห็นว่า กฎหมายของสถาบันการเงินและกฎหมายคุ้มครองเงินฝากมีการปรับปรุงไปจากอดีต ซึ่งหากพบปัญหาในสถาบันการเงินใด ธปท.สามารถเข้าไปดูแลได้จากเบาไปหาหนัก ซึ่งหากมีการดำเนินการได้อย่างเหมาะสมตามกฎหมาย สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะสามารถรองรับและจัดการปัญหาได้
4. ระบบบริหารจัดการภายในของสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ที่มีธรรมาภิบาล มีการจัดการที่ดี เห็นได้ว่าหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 สถาบันการเงินมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ มีการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น มีระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดจำนวน หากเทียบจากคุ้มที่คุ้มครองเงินฝากแบบครอบจักรวาล ทั้งนี้เพื่อให้เกิดวินัยการเงิน ขณะเดียวกัน การที่มีระบบคุ้มครองเงินฝาก ที่เน้นรายย่อย ที่หวังให้ลูกค้าให้ความสำคัญกับความโปร่งใส การมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อให้ผู้บริหารสถาบันการเงิน ได้มีความตื่นตัว แสดงออกถึงการบริหารจัดการที่เน้นความโปร่งใส การมีธรรมาภิบาล
"ทั้ง 4 เงื่อนไข จะทำให้ผู้มีเงินฝากมีความเชื่อมั่นสูงสุด ซึ่งทั้งหมดต้องพิจารณาตามข้อมูล ข้อเท็จจริง การตีความ และการใช้ดุลยพินิจ และเปลี่ยนแปลงตามเวลาและเงื่อนไข...หากปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดการใช้ทรัพยากรเกินเลย ก็อาจจะเกิดการโยนภาระไปให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่นผู้เสียภาษีได้" นายประสาร กล่าว
ทั้งนี้มองว่าการทำให้ผู้ฝากเงินมีความมั่นใจต่อระบบยังไม่เพียงพอ แต่ต้องสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นฐานรองรับความมั่นคงของระบบการเงิน ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจึงมีหน้าที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินก่อน