นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่อินเดียจะกลับมาส่งออกข้าวในปีนี้หลังจากระงับส่งออกมาประมาณ 2 ปีว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้มากนัก เนื่องจากคาดว่ากว่าที่อินเดียจะส่งออกได้คงเป็นราวเดือนก.ย.นี้ ซึ่งใกล้สิ้นปีแล้ว และยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถส่งได้ตามปริมาณที่ระบุหรือไม่
อนึ่ง รัฐบาลอินเดีย อนุญาตให้มีการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ(ข้าวขาวและข้าวนึ่ง) 1.8 ล้านตัน โดยให้เอกชนส่งออก 1 ล้านตัน จำหน่ายในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล 0.5 ล้านตัน และจำหน่ายให้บังคลาเทศ 0.3 ล้านตัน
"คงต้องรอดูหลังอินเดียเริ่มส่งออกได้แล้ว คาดว่าประมาณเดือนกันยายน แต่ไม่น่าจะกระทบการส่งออกข้าวของไทยมากนัก"นางสาวกอบสุข กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยังคงเป้าการส่งออกข้าวปีนี้ไว้ที่ 10 ล้านตัน ขณะที่ตัวเลขส่งออกข้าว ม.ค.-24 ก.ค.54 สามารถทำได้แล้ว 7.1 ล้านตัน แต่หลังจากเดือน ก.ย.อาจจจะมีการประเมินสถานการณ์ใหม่ เมื่ออินเดียส่งข้าวออกสู่ตลาดโลกจริง
"เรายังคงเป้าทั้งปี ที่ 10 ล้านตัน ยังไม่ปรับเพิ่ม ปรับแล้วเดี๋ยวไม่ได้จะหน้าแตก"นางสาวกอบสุข กล่าว
นางสาวกอบสุข กล่าวว่า เดิมอินเดียส่งออกข้าวทั้งปี ประมาณ 10 ล้านตัน ทั้งข้าวบาสมาติประมาณ 8 ล้านตัน และที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ (ข้าวนึ่งและข้าวขาว) ประมาณ 2 ล้านตัน แต่เมื่อกลับมาอนุญาตให้ส่งออกอีกครั้งหลังปิดประเทศมา 2 ปี ทุกอย่างก็ต้องมาเริ่มกันใหม่ไม่ว่าจะเป็นการจัดใบอนุญาต และการจัดกระบวนการทางภาครัฐให้การส่งออกเดินหน้า
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาวะและปัจจัยการค้าข้าวค่อนข้างผิดปกติ เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกน้อยลง โรงสีไม่มีข้าวเข้ามาให้สี ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูง ทั้งยังเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว
"ในท้องตลาดตอนนี้ข้าวเปลือกแทบจะหมดแล้ว ราคาตอนนี้ก็สูงขึ้นเพราะไม่มี Supply น้ำก็ท่วม ส่งความวุ่นวายมาถึงโลจิสติกส์ โรงสีแจ้งข้าวเปลือกหมด ข่าวอินเดียแทบจะไม่มีความสำคัญเลย ณ วันนี้"นางสาวกอบสุข กล่าว
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว กล่าวอีกว่า วานนี้ได้หารือกับทางหอการค้าไทยเกี่ยวกับการชักชวนสมาคมต่างๆที่เกี่ยวกับ Cluster ข้าว ไม่ว่าจะเป็นสมาคมชาวนาข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าว สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง ผู้ค้าให้มารวมตัวกัน เพื่อบูรณาการวงการอุตสาหกรรมข้าวของไทยให้ลงตัวในเรื่องการกำหนดโยบายข้าวเพื่อเตรียมนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่
"เพิ่งจะคุยกันครั้งสองครั้ง คุยกันว่าแต่ละผู้เกี่ยวข้องคาดหวังอะไร มีวัตถุประสงค์อะไร สร้างตัวชี้วัดดู เช่น ชาวนาขายข้าวได้ราคา ขัดความสามารถของผู้ส่งออกไม่ตก ถ้าเกิดขึ้นได้จริงก็จะตกผลึกที่พวกเราต้องการและนำเสนอภาครัฐว่าทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียหารือกันหมดทุกฝ่ายแล้วไม่มีใครคัดค้าน มีแต่คนสนับสนุนและอยากให้รัฐบาลสนับสุนนอะไร เหมือนเราทำการบ้านให้รัฐไปในตัว"นางสาวกอบสุข กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการหารือกันไม่ได้ลงลึกถึงนโยบายรับจำนำข้าวแต่อย่างใด เพราะคงต้องรอให้มีความชัดเจนเรื่องคณะรัฐมนตรี และเรื่องตัวบุคคลที่จะมาดูแลเรื่องนี้ รวมถึงรายละเอียดของนโยบายดังกล่าว