ปิดเพชรเกษม-จรัญฯ-เจริญกรุงเต็มรูปแบบต.ค.54 สร้างรถไฟฟ้า เปิดวิ่งปี 59

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 9, 2011 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรณชิต แย้มสอาด รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ เตรียมจะปิดถนนเต็มรูปแบบในเดือน ต.ค.54 จำนวน 3 เส้นทางหลัก คือ ถนนเจริญกรุง, เพชรเกษม และจรัญสนิทวงศ์

"เบื้องต้นช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2554 ได้ปิดถนนเป็นช่วงๆ แล้วบางส่วน โดยจะปิดจนถึงปี 59 ซึ่งจะเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และได้มีการหารือกับผู้รับเหมา และกองบัญชาการตำรวจนครบาลไปแล้ว เพื่อจัดระเบียบการจราจรในพื้นที่ก่อสร้างตามแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน"นายรณชิต กล่าว

ส่วนแผนการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 โครงสร้างทางยกระดับบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 13 กิโลเมตร เริ่มต้นที่รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีบางซื่อ สิ้นสุดที่แยกท่าพระ และช่วงที่ 2 โครงสร้างใต้ดินช่วงหัวลำโพง-บางแค 14 กิโลเมตร เริ่มต้นที่รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีหัวลำโพง ซึ่งจุดนี้จะเปิดหน้าดินมากกว่าจุดอื่นเพื่อนำหัวเจาะเข้าพื้นที่ในช่วงกลางปี 55 โดยแนวเส้นทางนี้จะผ่านเข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส, วังบูรพา, สนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด ไปสิ้นสุดที่แยกตัดถนนกาญจนาภิเษก ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางแค

"ปัจจุบันถนนเพชรเกษมถึงช่วงจุดตัดถนนกาญจนาภิเษก ผู้รับเหมาได้เข้าพื้นที่แล้วบางส่วน โดยใช้แบริเออร์ปิดกั้นพื้นที่เกาะกลาง ส่วนในพื้นที่บางแค ตั้งแต่ซอยเพชรเกษม 56 ได้ปิดกั้นพื้นที่เพื่อรื้อต้นไม้และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ โดย กทม. แล้ว" นายรณชิต กล่าว

สำหรับช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 14 กิโลเมตร จะเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินระยะทาง 5 กิโลเมตร ได้ประสาน กทม. ให้รื้อย้ายสาธารณูปโภค ปรับสัญญาณไฟ และการจัดระบบจราจรตามความคืบหน้าโครงการเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ รฟม.ยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเวนคืนที่ดิน 3 จุดที่มีการยื่นฟ้องคัดค้านต่อศาลปกครอง ได้แก่ จุดวัดมังกรกมลาวาสมีผู้ร้องเรียน 55 ราย จุดวังบูรพา 30-40 ราย และจุดถนนอิสรภาพอีก 50 ราย ซึ่งต้องเร่งทำความเข้าใจต่อไป ส่วนความคืบหน้าของโครงการในภาพรวมนั้นถือว่าช้ากว่าแผนเล็กน้อยเท่านั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ตามแผน

นายรณชิต กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า เห็นด้วยในหลักการ แต่ควรรอให้ขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าครอบคลุมและมีผู้ใช้บริการมากขึ้น จึงจะสามารถเก็บค่าโดยสาร 20 บาทได้ เพราะหากไม่รอโครงข่ายให้ครอบคลุม รัฐบาลต้องหาเงินมาชดเชย ซึ่งปัจจุบันการเก็บค่าโดยสารเป็นไปตามสัญญาเงินกู้ที่ใช้ก่อสร้างโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ