In Focusเบื้องหลังสหรัฐอเมริกาเสียเครดิต AAA เมื่อการเมืองเป็นเรื่องไม่เข้าใครออกใคร

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 10, 2011 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2551 แล้ว ข่าวที่ใหญ่ที่สุดและสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั่วโลกมากสุดในเวลานี้ก็คงจะเป็นข่าวสหรัฐถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ อันเนื่องมาจากปัญหาหนี้ล้นพ้นตัว และการขัดแข้งขัดขาของนักการเมืองในสภาคองเกรสที่ทำให้ร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ถูกดองอยู่ในสภานานหลายเดือน และเกือบจะคลอดไม่ทันวันกำหนดชำระหนี้เมื่อ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา

ใครจะคาดคิดว่าชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐที่เคยเสียงดังในทุกเวที จะเดินทางมาถึงวันที่ต้องกลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินอิรุงตุงนังไม่ต่างจากกรีซ แม้คณะทำงานของบารัค โอบามา พยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะสยบกระแสตื่นกลัวในตลาดการเงิน ด้วยการยืนยันว่า “สหรัฐยังคงแข็งแกร่ง" แต่การที่ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงไปกว่า 600 จุดในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ 8 ส.ค. หลังจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงเหลือ AA+ จากระดับสูงสุดที่ AAA นั้น นักลงทุนไม่มีความเชื่อในวาทะทางเศรษฐศาสตร์อันสวยหรูของรัฐบาลอีกต่อไป แต่คิดได้เองด้วยตรรกะง่ายๆ ก็คือ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามหาอำนาจแต่ยังเป็นหนี้มหาศาล ก็ไม่ควรจะคู่กับอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดต่อไปอีก

คนจำนวนมากอาจข้องใจว่า เพราะเหตุใดเอสแอนด์พี ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของสหรัฐแท้ๆ จึงไม่ยอมช่วยรัฐบาลในชาติเดียวกันสร้างภาพปูพรมเศรษฐกิจต่อไปให้นานกว่านี้สักหน่อย แต่กลับหันมาเฉือนอันดับเครดิตชาติเดียวกันเองอย่างไม่ไว้หน้า ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายรวดเร็วชนิดจรวดเรียกพี่อย่างในยุคนี้ ทำให้เราพบว่า “การเมือง" เป็นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการถูกหั่นเครดิตครั้งประวัติศาสตร์นี้ และแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ “การหวังผล" ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งจะมีขึ้นในปีหน้า

อันที่จริงการปรับเพิ่มเพดานหนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมสหรัฐ เนื่องจากเพดานหนี้ของสหรัฐได้ถูกปรับเพิ่มมาแล้วถึง 74 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งรวมถึงการปรับเพิ่ม 18 ครั้งในยุคที่โรนัลด์ เรแกน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และ 7 ครั้งในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู บุช แต่พรรครีพับลิกันพยายามทุกวิถีทางที่จะขัดขวางการปรับเพิ่มเพดานหนี้ เพื่อให้ภาพลักษณ์ของโอบามาซึ่งแสดงเจตนารมณ์ว่า จะลงชิงประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 นั้น ดูแย่ที่สุดในสายการของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เกมการเมืองที่เอาอนาคตประเทศชาติเป็นเดิมพันเช่นนี้ ถือเป็น "ปฏิบัติการณ์ทำหมันทางการเมืองให้กับโอบามาและเดโมแครต" เพื่อปูทางให้รีพับลิกันกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาอันทรงเกียรติทั้ง 2 สภาได้อีกครั้ง จากปัจจุบันที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมากแค่ในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ...และข้อมูลอันเหลือเชื่อที่ทำให้จิ๊กซอว์ทั้งหมดถูกต่อกันเป็นภาพที่สมบูรณ์ที่สุดก็คือ นายเดวิด เบียร์ส หัวเรือใหญ่ของเอสแอนด์พี ซึ่ง “เป็นผู้สนับสนุนรีพับลิกัน" และได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่กุมชะตาอันดับเครดิตของสหรัฐเอาไว้ในมือ มิหนำซ้ำนายเบียร์สยังได้รับเกียรติให้เข้าร่วมประชุมกับผู้นำระดับสูงของรีพับลิกันหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้เชี่ยวชาญหลายคนจนต้องออกมาเตือนว่า สถาบันจัดอันดับเครดิตควรจะ “รักษาระยะห่าง" กับนักการเมืองให้มากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้น สถาบันจะไม่มีความเป็นกลางอีกต่อไป แต่จะกลายเป็น “ผู้เล่น" ด้วยอีกคน และทำให้เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเกมนี้ในที่สุด

*ลอกคราบสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ คือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ก่อตั้งขึ้นโดยนายจอห์น มูดีส์ เมื่อปี พ.ศ. 2443 สถาบันจัดอันดับที่เก่าแก่รองลงมา และได้รับการยอมรับโดยทั่วไป คือ เอสแอนด์พี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2484 เกิดจากการรวมตัวของบริษัท พัวร์ พับลิชชิง และบริษัท สแตนดาร์ด สตาทิสติก และสถาบันอีกแห่งหนึ่งคือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลายปีหลังจากนั้น

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทำหน้าที่จัดอันดับคุณภาพและความเสี่ยงของตราสารหนี้ พันธบัตร และตราสารประเภทอื่นๆ ให้กับหน่วยงานในระดับองค์กรและระดับประเทศ เกณฑ์ในการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของแต่ละประเทศนั้น ครอบคลุมถึงความสามารถในการชำระเงินกู้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพของค่าเงิน สภาวะด้านการค้าและการลงทุน และปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยก่อนหน้าที่จะถูกเอสแอนด์พีลดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น สหรัฐเคยผงาดเคียงข้างกับเยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และอังกฤษ ติดกลุ่มชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอันดับเครดิต AAA ซึ่งบ่งชี้ว่าประเทศกลุ่มนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีที่สุด ส่วนประเทศไหนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า BBB- ก็ถือว่าประเทศนั้นมีตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา องค์กรหลายแห่งของรัฐบาลสหรัฐได้แสดงปฏิกริยาเบื่อหน่ายต่อความเคลื่อนไหวของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และที่รุนแรงที่สุดก็เห็นจะเป็นเมื่อช่วงต้นเดือนก.ย. 2550 เมื่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐประกาศทบทวนบทบาทของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง 3 แห่งของสหรัฐ คือ เอสแอนด์พี มูดีส์ และฟิทช์ หลังจากพบว่ามีการปกปิดสถานะความน่าเชื่อถือที่อ่อนแอของบริษัทปล่อยเงินกู้จำนองหลายแห่ง จนเป็นเหตุให้เกิดวิกฤตซับไพรม์ นอกจากนี้ ยังพบว่าสถาบันจัดอันดับเหล่านี้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากทางสถาบันได้รับเงินจากบริษัทต่างๆเป็นค่าจ้างในการจัดอันดับและวิเคราะห์

วิกฤตศรัทธาที่ภาครัฐมีต่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐต้องออกมาถกเถียงกันให้วุ่นวายในช่วงกลางปี 2552 เมื่อนายริชาร์ด บลูเมนทัล อัยการรัฐคอนเน็กติกัตระบุว่า กฎข้อบังคับของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เอื้อประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมต่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยกล่าวว่า มูดีส์ เอสแอนด์พี และ ฟิทช์ เรทติ้งส์ มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตการณ์สินเชื่อทั่วโลกด้วยการให้อันดับเครดิตตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) ที่ระดับ AAA เพียงเพื่อที่จะปรับลดอันดับเครดิตตราสารหนี้ในเวลาต่อมา ซึ่งนางแมรี ชาปิโร ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ กล่าวว่า ผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในอันดับความน่าเชื่อถือ และไม่เชื่อมั่นในคุณค่าของตราสารที่ถูกจัดอันดับ

เมื่อวิกฤตดำเนินมาจนถึงขีดสุด ผู้ที่ยืนเคียงข้างความถูกต้องมาโดยตลอดอย่างนายวอเรนต์ บัฟเฟตต์ เจ้าของอาณาจักรเบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ จึงตัดสินใจเทขายหุ้น 87,992 หุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท มูดีส์ คอร์ป เพื่อแสดงออกถึงการ "ล้างมือในอ่างทองคำ" หลังจากชื่อเสียงของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมัวหมองถึงขั้นถูกตีตราว่ามีส่วนทำให้ประเทศชาติเผชิญวิกฤต

*หวั่นผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกหลังสหรัฐถูกลดอันดับเครดิต

คล้อยหลังเพียงสองวันหลังจากเอสแอนด์พีประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียก็ดิ่งเหวถ้วนหน้าในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 8 ส.ค. โดยเฉพาะดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงและดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียว จากนั้นในช่วงค่ำวันจันทร์ที่ 8 ส.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปร่วงกันระนาว โดยดาวโจนส์ดิ่งเหว 634.76 จุด หรือ 5.55% และลากเอาตลาดหุ้นทั่วเอเชียร่วงติดฟลอร์กันถ้วนหน้าในวันอังคาร นั่นเพราะการลดอันดับเครดิตครั้งประวัติศาสตร์นั้น ไปกระตุ้นต่อมความหวาดผวาของนักลงทุนเข้าอย่างจังว่า สหรัฐคงต้องเจอเข้ากับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยรอบสองอย่างแน่นอน เพราะหนี้สาธารณะที่ท่วมท้นจนยากที่จะแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้นๆ

เนื่องจากสหรัฐมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า การผิดนัดชำระหนี้ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนั้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดการเงินทั่วโลก ผลการศึกษาของ Bipartisan Policy Center ระบุว่า กระทรวงการคลังสหรัฐอาจจะจัดเก็บรายได้ในเดือนส.ค.ได้ประมาณ 1.72 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าภาระหนี้สินที่รัฐบาลจะต้องจ่ายในเดือนดังกล่าวที่ระดับ 3.06 แสนล้านดอลลาร์

เบอร์นันเก้ ได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า การผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนของสหรัฐสูงขึ้น และจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐเองด้วย ขณะที่นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า ภาวะเงินคงคลังที่หดตัวอย่างรุนแรงของสหรัฐจะส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อประเทศอื่นๆทั่วโลก

หนี้สาธารณะ (Sovereign Debt) หมายถึงเงินที่รัฐบาลไปกู้ยืมจากแหล่งต่างๆทั้งในและต่างประเทศในภาวะที่รัฐมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย การก่อหนี้ของรัฐบาลจึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยทั่วไปแล้ว หากมูลค่าหนี้สาธารณะของประเทศใดสูงใกล้ระดับ 90% ของ GDP ของประเทศ ก็ถือว่าประเทศนั้นมีความเสี่ยงและมีปัญหาในการชำระหนี้ แต่หนี้สาธารณะของสหรัฐในปัจจุบันมีอยู่สูงถึง 93% ของ GDP จึงทำให้เกิดกระแสความตื่นตระหนกไปทั่วโลก

คนใกล้ตัวที่เดือดร้อนที่สุดกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้คงหนีไม่พ้นประชาชนชาวอเมริกันที่จู่ๆก็กลายเป็นคนที่มีหนี้สินโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่ต้องหลับตาก็คงจะนึกภาพออกว่า คนอเมริกันจะรู้สึกฝันสลายกันมากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คนที่จวนเจียนจะฝันสลายและน่าเห็นใจมากที่สุดก็คือ บารัค โอบามา ที่ถูกเกมการเมือง "ตัดตอน" เสียจนคะแนนนิยมร่วงไม่เป็นท่า และคงต้องจับตาดูกันว่า โอบามา ยังมีกำลังใจมากพอที่จะเดินหน้าลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อีกหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ