EXIM Bank จับมือ KBANK ประกันส่งออกระยะสั้น คุ้มครองความเสี่ยงนลท.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 10, 2011 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพร จิตเป็นธม รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เปิดเผยว่า ธสน. ได้ลงนามในกรมธรรม์ประกันการส่งออกระยะสั้นของสถาบันการเงิน (Export Credit Insurance Bank Policy) กับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซึ่งภายใต้กรมธรรม์ประกันการส่งออกระยะสั้นของสถาบันการเงิน ธสน. จะทำหน้าที่รับประกันความเสี่ยงให้แก่ธนาคารพาณิชย์ (ในฐานะผู้เอาประกัน) ในการรับซื้อส่งออกภายใต้เทอมการชำระเงินแบบ Document against Payments (D/P), Documents against Acceptance (D/A) และ Open Account (O/A) ที่ไม่เกิน 180 วันจากผู้ส่งออกที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์

ธสน. จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในกรณีที่ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้าส่งออก เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในการรับซื้อตั๋วส่งออกและส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจในการให้สินเชื่อขายลดตั๋วส่งออกให้แก่ลูกค้า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ส่งออกไทยทำประกันการส่งออกทุกครั้งที่ส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ธสน. จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้สูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นสำหรับความเสี่ยงทางการค้าได้แก่ ผู้ซื้อล้มละลายและผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า และความเสี่ยงทางการเมืองได้แก่ การควบคุมการโอนเงินจากประเทศผู้ซื้อมายังประเทศไทย การเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้าหรือห้ามนำเข้าสินค้า และการเกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ หรือรัฐประหาร

ธสน. เปิดให้ธนาคารพาณิชย์ใช้บริการประกันการส่งออกเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ในการรับซื้อตั๋วส่งออกระยะสั้นไม่เกิน 180 วัน โดยธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ ธสน. ให้บริการนี้ เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงของผู้ส่งออกที่เป็นลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย จากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศจำนวนกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

และความร่วมมือกันครั้งนี้เป็นผลจากปัจจุบันคู่ค้าในต่างประเทศจำนวนมากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสาเหตุจากผู้ซื้อล้มละลาย ซึ่งข้อมูลจากสถาบันประกันการส่งออกชั้นนำของโลกระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัทล้มละลาย 1 รายในทุก 3 นาที

การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของ ธสน. ในปี 2550-2553 ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า (81.7%) รองลงมาคือ ผู้ซื้อล้มละลาย (16.3%) และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า (2%) หากแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรม 57.7% เป็นสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาได้แก่ อุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ (7.7%) อาหารกระป๋อง (7.3%) เฟอร์นิเจอร์ (6.8%) พลาสติก (4.2%) และอุตสาหกรรมอื่นๆ (16.3%)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ