Analysis: สิงคโปร์ลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจเหตุความเสี่ยงจากอียู-สหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 10, 2011 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมสิงคโปร์ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจลง เช่นเดียวกับอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นเตอร์ไพรซ์ สิงคโปร์ (IE Singapore) ที่ปรับคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกลงเช่นกัน ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงขาลงที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่สถานการณ์ในตลาดหุ้นก็ดูไม่สดใสเท่าไรนัก ดัชนีสเตรทส์ไทม์ที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ 2, 859.96 จุด ในช่วงแรกของการซื้อขาย ปรับตัวลงมา 24.04 จุด หรือ 0.83%

หั่นตัวเลขคาดการณ์การขยายตัว

ถึงแม้ว่า กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมจะรายงานตัวเลขการขยายตัวล่าสุดในไตรมาส 2 ซึ่งได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลังจาก 0.5% เป็น 0.9% แต่ตัวเลขประมาณการของตลอดทั้งกลับถูกปรับลดลงมาจาก 5-7% มาอยู่ที่ 5-6%

รายงานยังระบุด้วยว่า ความเสี่ยงในด้านลบที่คุกคามเศรษฐกิจสิงคโปร์มีเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าผลกระทบจากน้ำมันราคาแพงกับภาวะห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นจะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม

กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมมองว่า ปัจจัยที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตคืออุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของภาคการผลิตทางชีวการแพทย์และการขยายตัวของธุรกิจบริการทางด้านการเงิน

อย่างไรก็ตาม รายงานของกระทรวงเตือนว่า “มีความวิตกกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว ในขณะที่มาตรการรัดเข็มขัดด้านการคลัง ตลาดแรงงานและที่อยู่อาศัยที่อ่อนตัวต่างก็ทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ การปรับลดเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐยังทำให้เกิดภาวะผันผวนในตลาดและความไม่มั่นใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย"

บทสรุปคือ “หากสถานการณ์เหล่านี้เลวร้ายลง เศรษฐกิจสิงคโปร์อาจจะตกต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้"

ธุรกิจส่งออกโตช้า

เนชั่นแนล เอ็นเตอร์ไพรซ์ (IE) ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมการค้าของสิงคโปร์ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ลงเช่นกัน เนื่องจากผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกต่ำกว่าที่คาดไว้ และยังมีปัจจัยเสี่ยงแง่ลบรออยู่ข้างหน้า

IE ปรับเปลี่ยนตัวเลขคาดการณ์การส่งออกสินค้านอกกลุ่มน้ำมันที่ผลิตในประเทศจากเดิม 8-10% เหลือ 6-7% ส่วนตัวเลขการค้ารวมจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 8-10% ปรับมาอยู่ที่ 9-10%

ในครึ่งปีแรกนั้นการค้ารวมเติบโต 9.6% และน่าจะขยายตัวได้ในครึ่งปีหลังสำหรับการผลิตทั้งในกลุ่มน้ำมันและนอกกลุ่มน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงและห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน อันเป็นผลมาจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น

ส่วนในเรื่องของปัจจัยเสี่ยงในแง่ลบ IE มองว่าเป็นเพราะการฟื้นตัวของประเทศญี่ปุ่นซึ่งฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังมีความท้าทายจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปอีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่รออยู่

นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุงของสิงคโปร์ระบุในแถลงการณ์วันชาติว่า ปัจจัยเสี่ยงต่างๆเป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่อ่อนแอลง

บรรดาธนาคารในประเทศ รัฐบาล รวมทั้งธนาคารกลางสิงคโปร์ยังบอกด้วยว่า จับตามองสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ตลาดทรุดตัวลงอย่างหนักเมื่อวันศุกร์และวันจันทร์ที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นสิงคโปร์ปิดทำการเมื่อวันอังคารเนื่องจากเป็นวันชาติ แต่ตลาดวอลล์สตรีทที่ปรับตัวขึ้นดึงให้ตลาดหุ้นสิงคโปร์กลับมาเปิดบวก 0.73% ในวันพุธ หลังจากที่ติดลบลงไปกว่า 10% ในช่วงการซื้อขาย 5 วันทำการก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังมองไม่เห็นสัญญาณการซื้อในเวลานี้ และภายในเที่ยงวันของเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ดัชนีสเตรตส์ไทม์ที่ออกตัวสวยก็ตกลงมา 0.83%

ชาง เชียว ยี่ นักยุทธศาสตร์ประจำศูนย์วิจัยของซีไอเอ็มบี กล่าวว่า การปรับฐานในตลาดหุ้นตลอดหลายวันที่ผ่านมามีสาเหตุหลักมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและข่าวคราวเรื่องหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งมีมาก่อนที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวส์ (S&P) จะประกาศลดระดับสหรัฐเมื่อวันศุกร์เสียอีก

ในรายงานเมื่อไม่นานมานี้ ชาง เชียว ยี่คาดการณ์ว่า ภาวะผันผวนในตลาดน่าจะเกิดขึ้นเพียงสั้นๆเท่านั้น แต่การปรับลดเครดิตต่างหากที่ไม่น่าจะสกัดกั้นต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐได้

เมื่อไม่นานมานี้ โจนส์ แลง ลาซาลล์ บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า แม้กระทั่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ยังรู้สึกได้ถึงแรงสะเทือนจากข่าวร้ายจากฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยมีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าสำนักงานระดับเกรดเอยังมีแนวโน้มสดใสอยู่ก็ตาม

บทวิเคราะห์โดยสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ