นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ สนพ.เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการยกเลิกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชั่วคราวจากน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 รวมถึงน้ำมันดีเซล เพื่อเสนอให้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงานคนใหม่ พิจารณา ซึ่งเงินดังกล่าวนำไปใช้อุดหนุนราคาพลังงานทดแทนต่างๆ โดยเฉพาะก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติในรถยนต์(เอ็นจีวี)เป็นหลัก
ปัจจุบันการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากน้ำมันเบนซิน 91 อยู่ที่ 6.70 บาทต่อลิตร และน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 7.50 บาทต่อลิตร หรือประมาณ 3 พันล้านบาทต่อเดือน เทียบเท่ากับการชดเชยราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี
ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า ได้ศึกษาการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่งที่จะสิ้นสุดมาตรการการตรึงราคาในเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอแผนการศึกษาใหม่ให้ รมว.พลังงาน พิจารณาทันที อาทิ การขึ้นราคาเป็นขั้นบันไดทั้งแอลพีจีและเอ็นจีวี เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และการลดค่าการตลาดแอลพีจีภาคขนส่งที่ปัจจุบันมีค่าการตลาดอยู่ที่ 3.25 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 1.75 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้ สนพ.ได้ศึกษาราคาเนื้อก๊าซที่แท้จริงเพื่อให้ได้ราคาที่ต้องชดเชยจริง โดยมีการทำรูปแบบต่างๆ หากมีการยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ชั่วคราวจำนวน 14-15 รูปแบบ โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบในการยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพื่อเสนอ รมว.พลังงาน ต่อไป
ทั้งนี้ ต้นทุนค่าขนส่งของแอลพีจีภาคขนส่งต่ำกว่าภาคครัวเรือนที่มีหลายขั้นตอนกว่า แต่ราคาขายภาคขนส่งอยู่ที่ 11.40 บาทต่อลิตร หรือ 20.34 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าที่ควบคุมไว้ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมองว่าจะปรับลดลงได้อีก
ล่าสุด ปริมาณการใช้แอลพีจีภาคครัวเรือนมีประมาณ 2.1 แสนตันต่อเดือน ภาคขนส่ง 7.8 หมื่นตันต่อเดือน ภาคอุตสาหกรรม 6.7 หมื่นตันต่อเดือน และภาคปิโตรเคมี 1.84 แสนตันต่อเดือน โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชยแอลพีจีถึง 3.229 พันล้านบาทต่อเดือน ส่วนก๊าซเอ็นจีวี 380 ล้านบาทต่อเดือน