(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ค.ที่ 74.4 จาก 72.3 ในมิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 11, 2011 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมเดือนก.ค.54 ที่ 74.4 จาก 72.3 ในเดือนมิ.ย.54 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เกี่ยวกับโอกาสหางานทำเดือนก.ค.54 อยู่ที่ 74.9 จาก 72.9 ในเดือนมิ.ย.54 และ ดัชนีความเชื่อมั่นฯเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเดือนก.ค.54 อยู่ที่ 102.8 จาก 99.8 ในเดือนมิ.ย.54 ซึ่งเกิน 100 เป็นครั้งแรก

สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความหวังรัฐบาลใหม่ที่จะมีแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น, ดัชนีตลาดหุ้นในเดือนก.ค.54 ปรับเพิ่มขึ้น 92.05 จุด, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับสูง, ภาวะการค้าต่างประเทศหรือส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ธปท.คงเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไว้ที่ 4.1, กนง.มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 3.25% ต่อปี, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ขณะที่ปัจจัยลบคือ ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง, กังวลความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะหนี้สาธารณะของยุโรปและราคาน้ำมัน, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาเบนซินออกเทน 95 และ 91, ความกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่แปรปรวน และสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค.ที่ปรับตัวสูงขึ้นได้รับสัญญาณในเรื่องของดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่และดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวและดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ ออกตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับความเชื่อมั่นทางการเมืองว่าจะมีเสถียรภาพ มีความปรองดองสมานฉันท์ เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนหน้า(ส.ค.)จะเป็นตัวชี้ทิศทางเศรษฐกิจของไทยที่ชัดเจนว่าจะปลอดภัยหรือได้รับผลกระทบ

"จะเห็นชัดเจนว่าผลจากเศรษฐกิจผันผวนในสหรัฐฯ ยุโรป จะกระทบหรือไม่กระทบ รวมถึงความเชื่อมั่นต่อครม.ด้วย"นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ผลจากที่สหรัฐฯแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยนำ QE3 ออกมาใช้ มองว่า เป็นตัวบั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากการนำ QE1 และ QE2 มาใช้ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ และการว่างงาน ซึ่งเมื่อรวมกับผลทางยุโรป ในสเปนและฝรั่งเสศที่อาจเป็นปัญหา ซึ่งหากเป็นปัญหาจริงก็จะทำให้ลุกลามบานปลายกลายเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของยุโรปเองเหลือความหวังเพียงเศรษฐกิจเยอรมนีประเทศเดียวเท่านั้น ขระที่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังค่อนข้างต่ำ หากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปปีนี้ไม่ฟื้น จะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจเยอรมนีให้แผ่วลงด้วย

สำหรับผลอันเกิดจากเศรษฐกิจในสหรัฐฯและยุโรปที่ส่งผลต่อไทยโดยตรง คือ ตัวเลขท่องเที่ยวในไทยแผ่วลง และภาวะความผันผวนที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมีแผนรองรับ แม้จะเชื่อว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง โตได้ในระดับ 4% แต่มีความเสี่ยงสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ