ธปท.แนะแบงก์ให้ความสำคัญบริหารความเสี่ยงป้องกันผลกระทบภาวะเศรษฐกิจตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 11, 2011 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ช่วงไตรมาส 3/54 ว่า ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถรักษาอัตราการทำกำไรได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจยังขยายตัวในทิศทางที่ดีทำให้เกิดความต้องการสินเชื่อเร่งตัวขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์ต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.กังวลอยู่

"ในภาพรวมแล้วระบบสถาบันการยังมีเสถียรภาพดีในไตรมาส 2 แต่ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากเศรษฐกิจนอกประเทศที่ผันผวน"นางสาวนวพร กล่าว

ปัจจุบัน การทำกำไรของธนาคารพาณิชย์มาจากรายได้ดอกเบี้ย ในสัดส่วน 68.9% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งในส่วนรายได้ดอกเบี้ยเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีที่แล้ว

"แบงก์แข่งตรงนี้กันมาก และมีการตัดราคา" นางสาวนวพร กล่าว

ส่วนการเข้าสู่ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับวันนี้เป็นวันแรก ส่งผลให้ลดวงเงินในการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 50 ล้านบาท/บัญชี/สถาบันการเงินนั้น นางสาวนวพร กล่าวว่า ธปท.ได้กำชับธนาคารพาริชย์ดูแลสภาพคล่องให้ดี ปัจจุบันสภาพคล่องยังเพียงพอรองรับการเข้าสู่ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก นอกจากนั้น ธปท.ได้ติดตามดูแลภาวะตลาดและร่วมมือกับกระทรวงการคลัง ขณะที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็จะสื่อสารให้ความรู้กับประชาชน

"ตามดูทุกวัน ขณะนี้เรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาการโยกเงิน และตอนนี้ยังไม่เห็นที่จะไประดมทุนจากต่างประเทศ แม้ดอกเบี้ยในต่างประเทศจะถูกกว่า ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศ" นางสาวนวพร กล่าว

ภาพรว สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2/54 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน 15.1% เร่งขึ้นจากที่ขยายตัว 13.4% ในไตรมาสก่อน จากการขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจ (สัดส่วน 71.4% ของสินเชื่อรวม) ที่ขยายตัว 14.9% เทียบกับที่ขยายตัว 12.2% ในไตรมาสก่อนตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งเพื่อรองรับการเพิ่มการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่สามารถกลับมาดำเนินการได้หลังจากประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากเหตุภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือน มี.ค.54

สินเชื่อขยายตัวเร่งขึ้นทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการ SME ที่ 17.9% และ 12.2% ตามลำดับ ทั้งนี้ สินเชื่อขยายตัวมากในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การพาณิชย์ และสาธารณูปโภค ขณะที่สินเชื่อแก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างชะลอตัว เนื่องจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐสิ้นสุดลง สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วน 28.6% ของสินเชื่อรวม)ขยายตัว 15.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 16.3% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย

"ครึ่งหนึ่งเป็นสินเชื่อหมุนเวียนเมื่อเทียบกับสินเชื่อเพื่อการลงทุน แต่มองว่าในอดีตช่วงเศรษฐกิจไม่ดี สัดส่วนสินเชื่อหมุนเวียนจะสูงมาก แต่ขณะนี้ภาคธุรกิจต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรมากขึ้น"

ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 284.7 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1/54 จำนวน 15.7 พันล้านบาท จากการโอนหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์และการรับชำระคืน เป็นสำคัญ ทำให้สัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงทั้ง Gross NPL จาก 3.2% เหลือ 3.0% และ Net NPL จาก 1.7% เหลือ 1.6%

ไตรมาส 2/54 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิ 68.9 พันล้านบาท และ 45.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 10.7 พันล้านบาท และ 11.5 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิตามการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้นจาก 2.4% เป็น 2.6% และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset: ROA) เพิ่มขึ้นจาก 1.1% และ 1.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ