นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) กล่าวว่า จากการที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนโยบายของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้เม็ดเงินอัดฉีด ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการเพิ่มราคาสินค้าเกษตร, การเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ และภาคครัวเรือน
นโยบายของพรรคเพื่อไทยหากแปลงเป็นนโยบายของรัฐบาลจะต้องใช้เม็ดเงินในการอัดฉีดในระยะเวลา 5 ปี กว่า 1.8 ล้านล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จัดเป็นนโยบายแบบก้าวกระโดด หลายนโยบายเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งภาคการจ้างแรงงาน กลไกราคาสินค้าเกษตร และกลไกราคาแบบรุนแรง เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ "Change Policy"
"นโยบายของพรรคเพื่อไทยหลายนโยบายเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะนโยบายด้านสังคม ทั้งด้านปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง การแก้ปัญหาคนยากจน, การให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุข และการรักษาพยาบาล รวมถึงด้านเบี้ยเลี้ยงคนชรา ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องสนับสนุน เพียงแต่ว่าจะมีวิธีการทำอย่างไร ที่ไม่ไปกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ" ประธาน สป.กล่าว
ทั้งนี้ สป.ได้มีข้อเสนอต่อการกำหนดนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลไว้ 19 ด้าน ประกอบด้วย 1.นโยบายการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรายกลุ่ม การเพิ่มผลิตภาพอย่างเป็นรูปธรรมต้องมีการเสริมสร้างทักษะและจัดหาเทคโนโลยี เครื่องจักรที่เหมาะสม และการวิเคราะห์จัดหาหรือปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการใช้เทคโนโลยีแต่ละภาคอุตสาหกรรมร่วมถึงภาคอุตสาหกรรมการเกษตร
2.นโยบายแรงงานต่างด้าว จำเป็นที่จะต้องมีการใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาในระบบการผลิต โดยต้องจัดเป็นวาระแห่งชาติ นำแรงงานต่างด้าวนอกระบบ เข้าสู่ระบบการผลิต มีการกำหนดพื้นที่และหรือลักษณะงาน ที่ให้ทำหรือไม่ให้ทำชัดเจน ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาช้านาน
3.นโยบายด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปัจจุบันพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อความต้องการใช้พลังงานฟอสซิล รัฐบาลจึงต้องมีนโยบาย จุดยืน การเลือกและกำหนดนโยบายที่ชัดเจนต่ออนาคตพลังงานของชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างพอเพียงและยั่งยืน
4.นโยบายด้านการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ด้วยการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย เมืองชายแดนที่มีศักยภาพในการกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมชายแดน เพื่อให้อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงแรงงานเข้มข้นสามารถย้ายฐานการผลิตไปอยู่ตามตะเข็บชายแดนในเมืองที่มีศักยภาพ เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก, บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี, อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยกระดับด่านชายแดนที่มีศักยภาพให้เป็น Gate Way และส่งเสริมให้เป็น Border Town คือเมืองเศรษฐกิจชายแดน เพื่อในการจัดทำผังเมืองอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ โดยการพัฒนาเมืองต้นแบบ Model Town
5.นโยบายด้านขับเคลื่อนศักยภาพในการแข่งขันรายอุตสาหกรรม โดยการกำหนดประเภทอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน (Niche Industry) โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้จะต้องกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ต้องการ โดยต้องทำเป็นแผนปฏิบัติการและให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาเป็นพันธมิตร
6.นโยบายด้านโลจิสติกส์แห่งชาติ รัฐจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อให้มีการขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ต้นทุนที่ต่ำสอดคล้องกับการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและการเชื่อมโยง AEC และ GMS โดยเสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการพาณิชย์นาวี และคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ให้มีการบูรณาการ รวมถึงการส่งเสริมให้มีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่ประเทศ
7.นโยบายด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งและขีดความสามารถ SME ไทยภายใต้บริบทการเปิด AEC ด้วยการส่งเสริมทั้งด้านทักษะ เทคโนโลยี นวัตกรรม ทุน และการส่งเสริมให้ SME ไทยไป ลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าในประเทศไทย จัดให้มีกองทุน SMEs FUND อย่างจริงจัง รวมทั้งการปรับโครงสร้าง สสว., BOI, SME Bank, ธนาคารออมสิน และกรมพัฒนาผีมือแรงงาน ให้มีความบูรณาการและผลักดันศักยภาพของ SMEs ไทย
8.นโยบายด้านการส่งเสริมการค้าชายแดนและการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคและประเทศที่สาม ควรจัดตั้งเป็นกรมการค้าข้ามแดน สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานส่งเสริมการส่งออกนำเข้าสำหรับสินค้าที่มีการขนส่งทางถนน ทั้งค้าชายแดนและข้ามแดนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งดูแลถึงภาคบริการโลจิสติกส์ ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกทางการค้า และเป็นหน่วยงานในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการค้าอย่างเป็นเอกภาค
9.นโยบายด้านการพัฒนาภาคการเกษตร พัฒนาองค์กรเกษตร สหกรณ์ภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง การพัฒนาอาชีพของเกษตรกรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จัดให้มีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึง และการจัดการหนี้สินเกษตรกรโดยยึดหลักการรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกร จัดทำยุทธศาสตร์ภาคเกษตรรองรับวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ เนื่องจากภาคเกษตรจะเป็นภาคที่รองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยภาคเกษตรจะเป็นภาคที่รองรับแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมและบริการ
10.นโยบายขอให้ทบทวนระยะเวลาการใช้นโยบายของรัฐบาลที่อาจมีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นโยบายของพรรคเพื่อไทยหลายนโยบายเป็นสิ่งที่ดี แต่การผ่อนถ่ายต้องมีขั้นมีตอนรวมถึงการเยียวยาช่วยเหลือภาคธุรกิจบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งภาคเศรษฐกิจไทยมีหลายระดับหลากหลายมิติ มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่างกัน ประเทศไทยต้องพึ่งพิงการส่งออก ราคาสินค้าต้องมีการแข่งขัน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขอให้รัฐบาลมีการทบทวนโดยเฉพาะการแทรกแซงกลไกราคา และต้นทุนการผลิต จะเป็นการลดขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของไทย
11.นโยบายการจัดตั้งหน่วยงานในการป้องกันและเยียวยาภัยพิบัติจากธรรมชาติ ควรจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพซึ่งควรเป็นหน่วยงานระดับกระทรวงหรือองค์กรอิสระ มีแผนงานงบประมาณ ในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาการป้องกัน และให้การช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ครอบคลุมในทุกมิติของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้งภาคโลจิสติกส์ การผลิต เศรษฐกิจ และสังคม
12.นโยบายการรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย ขอให้รัฐบาลมีการเตรียมมาตรการและหรือสำรองเครื่องมือการเงินการคลังสำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาภาคเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นโยบายทบทวนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการทางภาษีการเงินที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน, การเตรียมมาตรการช่วยเหลือภาคการผลิต, การหามาตรการร่วมกันในระดับภูมิภาค โดยการจัดทำเป็น Policy Collaborate, ขอให้ภาครัฐมาตรการรองรับการผันผวนของราคาน้ำมัน และขอให้ภาครัฐมาตรการรองรับการผันผวนของราคาน้ำมัน
13.นโยบายทบทวนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แบบขั้นบันไดในการปรับ หากรัฐบาลจะดำเนินการจริงควรจะให้ระยะเวลาก้าวขึ้นไปเป็นขั้นบันไดหรือให้เอกชนรับส่วนหนึ่งและรัฐบาลชดเชยในรูปแบบของค่าครองชีพอาจจะโอนเงินผ่านนายจ้างหรือ โอนเงินเข้าผ่านทางประกันสังคมให้กับลูกจ้างโดยตรง และเงินค่าครองชีพนี้จะทยอยลดลงโดยให้เป็นภาระของภาคเอกชนภายใน 3 ปี หากรัฐบาลจะให้เอกชนรับทีเดียวจะทำให้อุตสาหกรรมที่พึ่งพิงแรงงานเข้มข้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
14.นโยบายรองรับสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจเกิดจากการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลซึ่งใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากจะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 5% กดดันทำให้ต้นทุนการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
15.นโยบายการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน โดยให้มีหน่วยงานราชการเป็นเจ้าภาพและเป็นเลขานุการ และควรมีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน
16.นโยบายด้านการกีฬาและนันทนาการ จัดระบบบริหารจัดการกีฬาให้เป็นเอกภาพ โดยจัดตั้งคณะกรรมการกีฬาแห่งชาติเกี่ยวกับนโยบาย มาตรการ กำกับ ดูแลและสนับสนุน การปฏิบัติงานตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดตั้งมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติและมีวิทยาเขตกระจายทั่วทุกภูมิภาค
17.นโยบายการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว จัดตั้งระบบกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs โดยตรงให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ผลิตบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของตลาด พัฒนาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวให้มีความพร้อมในด้านการบริหารจัดการ ฟื้นฟูและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อสร้างความเป็นตัวตนที่เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่
18.นโยบายด้านสังคมและการศึกษา คุณภาพชีวิต การปองดอง คอร์รัปชัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องจะใช้ธรรมาภิบาลเป็นเสมือนเครื่องมือในการพัฒนาขีดความสามารถ โดยมีการส่งเสริมบทบาทให้เกิดการทำงานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน หรือการไม่นำผลประโยชน์ของสาธารณะมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
19.นโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียง รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดให้ประเทศไทย เป็นแผ่นดินของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถวายเป็นพระราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายโอกาส กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลหากจะนำมาใช้จริงก็ขอให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและสถานะของภาคธุรกิจ และมีความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนนโยบายที่อาจมีผลกระทบต่อขีดความสามารถในระยะยาวควรจะมีการทบทวนหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสถานการณ์และจัดทำเป็นแผนหรือ Road Map มีระยะเวลาที่ชัดเจนเพื่อให้ภาคการผลิตมีระยะเวลาผ่องถ่ายและปรับตัวซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย