In Focus:เอเชียถึงคราวต้องหวั่นไหว เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐถูกหั่นเครดิต

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 17, 2011 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลง 1 ขั้น จาก AAA เป็น AA+ พร้อมคงมุมมองเชิงลบ ได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เอเชีย ซึ่งถูกจับตาในฐานะภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

แม้ว่า S&P ได้ออกแถลงการณ์เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การลดเครดิตสหรัฐ จะไม่ส่งผลกระทบในทันทีต่อประเทศในเอเชีย แต่หุ้นในเอเชียก็ร่วงกราวรูด ขณะที่นักลงทุนถอยออกไปตั้งหลักอยู่นอกตลาด โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 8 ส.ค.2554 ดัชนีนิกเกอิปิดิ่งลง 202.32 จุด หรือ 2.18% ขณะที่ตลาดหุ้นสิงคโปร์และตลาดหุ้นไต้หวันปิดรูดลง 3.70% และ 3.82% ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นไทยปิดร่วงลง 1.39% ซึ่งถือได้ว่าได้รับแรงกระทบน้อยกว่าตลาดอื่น

นอกจากการลดอันดับเครดิตดังกล่าวแล้ว ปัญหาหนี้สินในยุโรปที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของยุโรป ยังบ่งชี้ถึงภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอนและมีความท้าทายมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเสี่ยงในภาวะนี้

S&P ระบุว่า “ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลก และแนวโน้มที่อ่อนแอลงในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อไปอีก"

อย่างไรก็ตาม S&P ระบุว่า ในขณะนี้แนวโน้มที่มีเสถียรภาพโดยทั่วไปสำหรับกลุ่มประเทศเอเชีย แปซิฟิก (ยกเว้น นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, เวียดนาม และหมู่เกาะคุ๊ก) ได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่เหมาะสมภายในประเทศ, ภาคเอกชน และครัวเรือนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง, สภาพคล่องภายในประเทศและอัตราการออมในประเทศที่อยู่ในระดับสูง แต่เมื่อพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องกันของตลาดต่างๆทั่วโลก หากเกิดความผันผวนรุนแรงอย่างไม่คาดคิดในตลาดการเงินของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็อาจจะทำให้ภาพรวมเปลี่ยนแปลงไปได้

S&P เปิดเผยว่า ประสบการณ์จากวิกฤติการเงินโลกในปี 2008-2009 แสดงว่า กลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ที่มีการส่งออกสูงไปยังสหรัฐและยุโรป จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุด “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไทย, จีน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการชะลอตัวที่ได้รับแรงผลักดันจากการส่งออก โดยอาจจะผ่านทางอุปสงค์ที่ลดลง หรือราคาสินค้าส่งออกที่ลดลง หรือทั้ง 2 อย่าง โดยสหรัฐ เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์และเป็นแหล่งการลงทุนของต่างประเทศที่สำคัญ

วิตกผลกระทบต่อการถือครองพันธบัตรสหรัฐในเอเชีย

รายงานของยูเอสเอ ทูเดย์ของสหรัฐระบุว่า การลดอันดับเครดิตสหรัฐ อาจจะสร้างความวิตกให้กับประเทศต่างๆในเอเชียที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐจำนวนมาก รายงานระบุว่า จีนและเจ้าหนี้รายอื่นๆ ยังคงวิตกว่า การลดอันดับเครดิต อาจจะบั่นทอนมูลค่าของพันธบัตรที่ถือครองไว้ โดยจีนเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ซึ่งถือครองพันธบัตรจำนวน 1.15 ล้านล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยญี่ปุ่น 9.124 แสนล้านดอลลาร์, ไต้หวัน 1.534 แสนล้านดอลลาร์, ฮ่องกง 1.219 แสนล้านดอลลาร์ และฟิลิปปินส์ 2.36 หมื่นล้านดอลลาร์

ยูเอสเอ ทูเดย์ มองว่า การปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้กลุ่มประเทศในเอเชียเร่งกระจายการลงทุนในทุนสำรองไปยังสินทรัพย์ประเภทอื่น นอกเหนือจาก พันธบัตรสหรัฐ โดยประเทศต่างๆในเอเชีย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการถือครองพันธบัตรสหรัฐโดยต่างชาติซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ 4.51 ล้านล้านดอลลาร์

แม้ว่าการหั่นเครดิตสหรัฐอาจจะส่งผลให้การระดมทุนสกุลดอลลาร์ขยับสูงขึ้นบ้าง แต่ก็มีผลกระทบไม่มากนักต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ เมื่อพิจารณาจากปริมาณ, คุณภาพ และสภาพคล่องในตลาด ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงต่อไป ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็อาจจะใช้มาตรการหนุนสภาพคล่องเช่นในยุควิกฤติซับไพร์ม เพื่อให้ตลาดการเงินดำเนินไปอย่างราบรื่น

สำหรับตลาดสินทรัพย์นั้น คาดว่า นักลงทุนจะลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป โดยตลาดหุ้น และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จะปรับตัวลง สวนทางกับทองคำ, ฟรังก์สวิส, เยน

แต่ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปยังมีแนวโน้มอ่อนแอลง การดำเนินการของประเทศต่างๆเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพในตลาดมีผลเพียงเพื่อให้การปรับตัวของตลาดเป็นไปอย่างเป็นระเบียบเท่านั้น แต่ปัจจัยพื้นฐานที่ยังส่งผลต่อตลาดอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ส่อแววชะลอตัวลง

ผลกระทบในระยะยาว

S&P ระบุว่า การปรับลดเครดิตสหรัฐจะไม่ส่งผลกระทบในทันทีต่อความน่าเชื่อถือของประเทศในเอเชีย แปซิฟิก แต่อาจจะมีผลกระทบในระยะยาวได้

นักวิเคราะห์ประเมินว่า ในภาคการเงินนั้น การปรับลดเครดิตสหรัฐจะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อนักลงทุน โดยจะทำให้มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ และทำให้นักลงทุนหันไปถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น ทองคำ, ฟรังก์สวิส แต่แม้ว่าจะเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะ นักลงทุนก็ยังให้ความสนใจพันธบัตรสหรัฐอยู่ ในขณะที่มูดี้ส์ และฟิทช์ เรทติ้ง ยังคงอันดับเครดิตสหรัฐไว้ที่ AAA และจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐ ซึ่งหมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐและทั่วโลกจะยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอ และไม่จำเป็นต้องระดมทุนเพิ่ม

ทัศนะจากแวดวงนักวิเคราะห์

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า “ดัชนีหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนในช่วงนี้ เนื่องจากกังวลผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยแต่ละประเทศได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน มากน้อยแตกต่างกันไป ส่วนของประเทศไทย ผลกระทบยังมาไม่ถึง ต้องรอระยะหนึ่ง และยังเป็นการเร็วเกินไปที่จะประเมินทิศทางเงินลงทุนของต่างชาติ"

ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบล.ดีบีเอส วิคเตอร์ส (ประเทศไทย) และนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กล่าวว่า “ควรลดพอร์ทการลงทุน และเล่นหุ้นให้สั้นลง โดยนอกจากปัจจัยลบจากการลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐแล้ว ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆภายในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้น"

นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลก หลังสหรัฐถูกหั่นอันดับเครดิต ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ, อัตราว่างงานพุ่งขึ้น และยังขาดแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับปัญหาวิกฤติหนี้ที่เกิดขึ้นในยุโรป ซึ่งทำให้ตลาดเกรงว่า จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบ 2 ซึ่งความวิตกนี้ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 2-3% ราคาน้ำมันมีแนวโน้มอ่อนลง ขณะที่ทองพุ่งขึ้น ซึ่งหากปัญหาต่างๆบานปลาย ก็จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น และผู้ผลิตสินค้าส่งออกก็จะได้รับผลกระทบ

ผลจากการปรับลดอันดับเครดิตทำให้กระแสเงินทุนไหลออกจากเอเชียอย่างต่อเนื่อง โดยมีอยู่ 2 ตลาดที่มีการเทขายสุทธิต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ และตลาดหุ้นไต้หวัน

นักวิเคราะห์แนะให้จับตาผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งจะเป็นตลาดแรกที่จะได้รับผลกระทบจากการการที่ S&P ลดอันดับเครดิตสหรัฐ โดยเจพี มอร์แกน ประเมินว่า หากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.5% ก็จะทำให้จีดีพีสหรัฐลดลง 0.4% อย่างไรก็ตาม จะไม่มีผลกระทบรุนแรงในระยะสั้น เนื่องจากประเทศต่างๆ รวมทั้ง จีน, เกาหลีใต้, รัสเซีย และภูมิภาคยุโรป ยังยืนยันที่จะถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐต่อไป แต่หากในอนาคตมีการลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐ ก็จะทำให้เงินเอเชียแข็งค่า และกระทบภาคส่งออก

ผลกระทบต่อไทย

ภายหลังการหั่นเครดิตสหรัฐ หากเศรษฐกิจสหรัฐย่ำแย่ลงอีก ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยง เนื่องจากสหรัฐเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลก แม้ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐเพียง 10% แต่การที่สหรัฐนำเข้าจากเอเชียถึง 39% ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสหรัฐในระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยภาคการส่งออกที่พึ่งพาตลาดสหรัฐ อาทิ สินค้าขั้นกลางสำหรับการนำไปผลิตต่อ และสินค้าประเภททุนเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ เช่น เฟอร์นิเจอร์, อุปกรณ์ไฟฟ้า, เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งหากเศรษฐกิจของสหรัฐขยายตัวต่ำกว่า 1% ก็จะทำให้การขยายตัวของการส่งออกของไทยลดลงเหลือต่ำกว่า 5% และหากเป็นเช่นนั้น แม้ว่าไทยจะได้รับแรงผลักดันจากจีนและเอเชีย หรือการเพิ่มรายได้ของรัฐบาล แต่จากอดีตที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลง ย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจไทยด้วย โดยคาดว่าหากเป็นเช่นนั้น ในปี 2555 การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2%

สำหรับตลาดการเงินนั้น ในระยะสั้นคาดว่า จะมีผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ โดยส่งผลให้เม็ดเงินไหลออก เพราะต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง แต่ในระยะกลางถึงระยะยาว เงินทุนจะยังคงไหลกลับเข้ามายังเอเชีย เมื่อพิจารณาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเอเชียที่ยังคงแข็งแกร่งกว่าสหรัฐ และถ้าหากว่า เฟดใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณเพิ่มเติม ก็จะยิ่งผลักดันให้สภาพคล่องไหลกลับเข้าสู่เอเชียและไทยต่อไปอีก

ด้านธุรกิจนั้น คาดว่า ภาวะสินเชื่อจะชะลอตัวลง เนื่องจากนักลงทุนขาดความมั่นใจ ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐ

หลังจากสัญญาณเตือนถึงวิกฤติสหรัฐจาก S&P ในครั้งนี้ ยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เศรษฐกิจสหรัฐ, ปัญหาหนี้สินยุโรป รวมทั้ง ปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ จะฉุดเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลงหรือไม่ และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่แข็งแกร่งอย่างเอเชีย จะฝ่าฟันอุปสรรคต่อไปได้หรือไม่ ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยภายใต้การนำของรัฐบาลชุดใหม่ จะรอดพ้นจากผลกระทบต่างๆได้อย่างสวยงาม หรือจะต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะต้องถูกลดอันดับเครดิตเช่นเดียวกับสหรัฐ ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ