นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)กล่าวว่า กฟผ.ลงนามในสัญญางานซื้อและจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 และงานซื้อและจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 กับผู้แทน The Consortium of Siemens Aktiengesellschaft, Siemens Limited and Marubeni Corporation
โครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 เป็นโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดิม โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 ขนาดกำลังผลิตประมาณ 800 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่บริเวณโรงไฟฟ้าวังน้อย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมใช้ก๊าซธรรมชาติจากท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-วังน้อย เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2554 และแล้วเสร็จจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 2557 เสริมความมั่นคงให้แก่ไฟฟ้าในภาคกลาง ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ในส่วนของโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 ขนาดกำลังผลิตประมาณ 800 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทย พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2554 และแล้วเสร็จจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 2557 ส่งผลให้ภาคใต้มีความมั่นคงของระบบไฟฟ้ามากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลางที่ทำให้เกิดการสูญเสียจากระบบส่งไฟฟ้าในระยะทางไกล เกิดความคล่องตัวในการควบคุมและจ่ายไฟฟ้า
สำหรับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 กฟผ. ได้กำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของทั้ง 2 โครงการ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว
ขณะที่การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และเสียง อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น และจัดทำรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม รายงานให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) นอกจากนี้ได้มีการติดตั้งระบบควบคุมสารทุกประเภทเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน