ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของมาเลเซียในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ขยายตัวในระดับปานกลางที่ 4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา หลังจากที่ไตรมาสแรกขายตัวได้ถึง 4.9% ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยด้านการเงินในต่างประเทศที่อ่อนแอลง
ธนาคารกลางมาเลเซียระบุในรายงานว่า ปัจจัยที่ทำให้จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวมาจากความต้องการของภาคเอกชนภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรยังคงแข็งแกร่ง ทำให้มีความต้องการในระดับภูมิภาคในระดับที่น่าพอใจ ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่สู้ดีนัก นอกจากนี้เหตุภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่นยังทำให้ห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิตทั่วโลกสะดุดลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวภาคการผลิตชะลอตัวลงในไตรมาส 2
ขณะที่สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าเศรษฐกิจจะเติบโต 6% ในปีนี้
ธนาคารกลางมาเลเซียรายงานเพิ่มเติมว่า ความต้องการภายในประเทศในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการใช้จ่ายในภาคเอกชนที่ยังคงมีเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าตัวเลขจะต่ำกว่าไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้น 6.9%
ในส่วนของอุปทาน ภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีอัตราขยายตัวในระดับปานกลาง โดยการขยายตัวในภาคการผลิต การบริการ การก่อสร้าง และการทำเหมืองแร่ลดลง ในทางตรงกันข้าม ภาคเกษตรกรรมสามารถพลิกสถานการณ์จากที่ติดลบมาเป็นขยายตัวถึง 6.9%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลข 2.8% ในไตรมาสแรก