นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันนับเป็นผู้นำในอาเซียน จากการเป็นผู้ส่งออกเม็ดพลาสติกรายใหญ่ ในแต่ละปีมีมูลค่ามากถึง 3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 3 ของ GDP ประเทศไทย และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบที่มาจากโรงงานปิโตรเคมี ความพร้อมทางด้านโลจิสติกส์ ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค สามารถขนถ่ายสินค้าสู่ตลาดในประเทศต่างๆ ในต้นทุน ที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะการมีผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าพลาสติกที่หลากหลาย ปัจจัยเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทย
ดังนั้นประการสำคัญเราต้องมีการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นประชาคมเดียวกัน ซึ่งเรารู้จักในชื่อ AEC — ASEAN Economic Community ซึ่งจะปรากฏในปี 2015 หรืออีกเพียง 4 ปีจากนี้ โดยการเกิด AEC จะทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกมีโอกาสขยายกลุ่มลูกค้าด้วยขนาดตลาดที่เพิ่มขึ้นอีกถึง 9 - 10 เท่าจากขนาดตลาดในปัจจุบัน โดยที่ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 60 ล้านคน ขณะที่ประชาคมอาเซียนมีจำนวนประชากรรวม 600 ล้านคน
โดยทางสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศสมาชิกอาเซียนและเอเชีย มอบให้ประเทศไทยให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2 งานพร้อมกัน คือ การประชุม AFPI หรือ Asean Federation of Plastic Industries เป็นการประชุมกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกอาเซียนที่มีประเทศสมาชิก 7 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมพลาสติก อีกทั้งเป็นโอกาสของภาคเอกชนที่จะใช้เป็นเวทีจับคู่ทางธุรกิจอีกด้วย
นอกจากนี้ จะมีการจัดประชุม ASIA PLASTICS FORUM (APF) เพื่อนำเสนอสถานการณ์สิ่งแวดล้อม และหารือแนวทางความร่วมมือนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยแต่ละประเทศในเอเชียจะนำเอาประสบการณ์ แนวทางการบริหารจัดการเพื่อนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วมาใช้ใหม่และแลกเปลี่ยนความรู้ แนวทางจัดการร่วมกัน ในช่วงเดียวกันนี้ ทางกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันจัดงาน Plastic Night 2011 เพื่อเป็นงานพบปะสร้างมิตรภาพระหว่างนักธุรกิจในกลุ่มที่มาจากนานาประเทศดังกล่าว และนำรายได้จากการจัดงานไปใช้ในกิจกรรมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก ผ่านหน่วยงานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ TIPEMSE และอีกส่วนจะใช้เป็นการดำเนินการในสถาบันพลาสติกที่จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทยต่อไป
อีกทั้ง ประเทศไทยยังได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน TIPREX 2011 ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม — 3 กันยายนนี้ โดยเป็นงานแสดงสินค้าด้านอุตสาหกรรมพลาสติก และยางที่ใหญ่สุดในอาเซียน มีผู้ประกอบการ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกและยางทั่วโลกร่วมนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ในการผลิต เครื่องจักร และแนวทางการผลิตพลาสติกและยางในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกไปพร้อมกัน
"การจัดงานประชุมและนิทรรศการการค้าในช่วงเวลาต่อเนื่องกันนี้ มีเป้าหมายให้เกิดประโยชน์อย่างครบวงจรแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs จะได้มีเวทีพบปะกับผู้ประกอบการที่มาจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนและเอเชียสร้างโอกาสการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ ความก้าวหน้าทางนวัตกรรม และการเจรจาธุรกิจการค้า โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเพื่อตอบรับโอกาสที่เปิดกว้างจากการรวมประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า"นายวีรศักดิ์ กล่าว